ปธ.สภาตลาดทุน มองลดภาษีเงินได้ดันหุ้นพุ่ง-ขึ้นค่าแรงกระทบ บจ.ไม่มาก

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 21, 2011 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ เปิดเผยในงานเสวนา"เศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้ง"ว่า ผลการเลือกตั้งทำให้มีมุมมองต่อสถานการณ์การเมืองดีขึ้นและช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนรวมถึงผู้บริโภคในการจับจ่ายใช้สอย

แต่จากนี้คงจะต้องติดตามดูนโยบายที่รัฐบาลใหม่จะกำหนดออกมาตามที่พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำตั้งรัฐบาลได้หาเสียงไว้ โดยเฉพาะการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% หากเกิดขึ้นได้เร็วก็จะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นไทย และอาจทำให้ดัชนีมีโอกาสปรับขึ้นไปอีก 100 จุด หรือแตะ 1,200 จุด รวมถึงกำไรต่อหุ้น(EPS)ของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ก็จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 10%ในทิศทางเดียวกัน

ส่วนประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน นายไพบูลย์ เชื่อว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อ บจ.ในตลาดหุ้นมาก เพราะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากน่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานไร้ฝีมือมากกว่า

นายไพบูลย์ กล่าวว่า หลังจากการเมืองมีความชัดเจนทำให้ตลาดหุ้นไทยทยอยปรับฐานขึ้นไปและมีโอกาสที่กองทุนต่างประเทศจะสนใจตลาดหุ้นไทยมากขึ้น โดยเฉพาะกองทุนเกิดใหม่ เช่น โกลบอลฟันด์ ซึ่งเม็ดเงินของกองทุนเหล่านี้มีค่อนข้างมาก ซึ่งผลจากการโรดโชว์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ทำให้กองทุนต่างประเทศและนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ บจ.ขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในตลาดหุ้นไทยกว่า 30 บริษัท หรือมีมูลค่าซื้อขายราว 10 ล้านเหรียญสหรัฐ/วัน หากไม่มีปัจจัยลบทางการเมืองเกิดขึ้นเชื่อว่าจะเห็นรูปแบบการลงทุนระยะยาว 3-5 ปีของกองทุนต่างประเทศมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มุมมองของต่างประเทศต่อตลาดหุ้นไทยดีขึ้น แต่ต้องรอการประกาศทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ เพราะจะได้เห็นภาพว่ารัฐบาลจะเดินไปในทิศทางใดและเป็นที่ยอมรับหรือไม่ แต่ก็ขอฝากรัฐบาลให้ความสำคัญถึงวินัยการคลังเป็นหลักด้วยการควบคุมเพดานการก่อหนี้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะนำมาใช้จะต้องไม่มากเกินไป

"เท่าที่เห็นตอนนี้ต่างชาติมองตลาดในแถบเอเชียและไทยน่าสนใจลงทุน ซึ่งต่างกับตลาดสหรัฐและยุโรปที่มีปัญหาอยู่ และจะเห็นว่าตอนนี้มีเม็ดเงินโยกจากพันธบัตรไปตลาดเกิดใหม่ ถ้าหากเราสามารถรักษามาร์เก็ตแคปและคุณภาพของ บจ.ได้ดี และมีเสถียรภาพก็จะทำให้มีเม็ดเงินใหม่ ๆ เข้ามา แต่ที่สำคัญตอนนี้คงหนีไม่พ้นในเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมืองด้วย เพราะถือเป็นปัจจัยหลัก"นายไพบูลย์ กล่าว

ส่วนปัจจัยต่างประเทศเชื่อว่าสหรัฐและยุโรปน่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ดีขึ้น

ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล. ภัทร กล่าวว่า ยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร คงต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ก่อน แต่ยอมรับว่าผลเลือกตั้งที่เกิดขึ้นดีเกินกว่าที่คาด แต่เป็นห่วงว่านโยบายรัฐบาลใหม่จะปฏิบัติได้ค่อนข้างยาก จากที่ได้เห็นแรงต้านออกมาทั้งๆ ที่ยังไม่ได้นำมาใช้

โดยเฉพาะประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ อาจจะส่งผลบิดเบือนกลไกตลาดค่อนข้างมาก จนกระทั่งส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ รวมถึงซัพพลายเออร์ของ บจ.ขนาดใหญ่ก็อาจจะมีปัญหา ขณะที่ผลพวงจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลภาวะเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจการลงทุนได้

แต่หากมองภาพรวมตลาดในภูมิภาคขณะนี้เป็นที่น่าสนใจ ขึ้นอยู่กับตัวแปรใน 2-3 ปัจจัย คือเกินดุลบัญชีเดินสะพัดหรือไม่ ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงหรือไม่ หนี้ภาครัฐมีขนาดใหญ่หรือเล็ก ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจถือว่ามีความสำคัญ แต่ก็ยังมองการเติบโตเศรษฐกิจเอเชียปีนี้ที่ 7-8% ไม่รวมญี่ปุ่น ขณะที่ยุโรป 2-3%

"จะให้ตอบตอนนี้คงยาก ต้องรอดูนโยบายว่าจะออกมาในรูปแบบไหนแต่ก็อยากให้เข้าใจถึงระบบโครงสร้างประเทศไทย ยอมรับว่าความเสี่ยงทางการเมืองยังมีอยู่"นายศุภวุฒิ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ