ทริสฯ ให้เครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ CPF ที่ "AA-"แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 25, 2011 09:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาทของ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ที่ระดับ “AA-" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “AA-" เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่" บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดและใช้เป็นทุนในการดำเนินงานตามแผน

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ตลอดจนการมีสินค้าและตลาดที่หลากหลาย ความสำเร็จของกลยุทธ์ที่เปลี่ยนไปเน้นผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภคที่มีตราสัญลักษณ์ การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ และผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทที่ค่อนข้างต่ำ รวมถึงความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วย แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจเกษตรอาหารที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าความได้เปรียบจากการเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีสินค้าและตลาดที่หลากหลายรวมทั้งการประหยัดจากขนาดน่าจะช่วยทำให้บริษัทมีผลกำไรที่สม่ำเสมอมากขึ้น ทั้งนี้ การที่บริษัทให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภคน่าจะช่วยลดความผันผวนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของบริษัทลงได้

ทริสเรทติ้งรายงานว่า CPF เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารรายใหญ่ที่สุดในประเทศ อีกทั้งยังมีฐานะเป็นบริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจหลักของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ด้วย โดย ณ เดือนมีนาคม 2554 กลุ่มบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ถือหุ้นในบริษัท 42.14% ธุรกิจของบริษัทแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักคือกลุ่มสัตว์บกและกลุ่มสัตว์น้ำ โดยแต่ละกลุ่มประกอบด้วยธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจฟาร์ม และธุรกิจอาหารพร้อมบริโภค การดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรส่งผลให้สินค้าของบริษัทได้มาตรฐานสากลทั้งในด้านความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับซึ่งสามารถส่งออกไปยังประเทศผู้นำเข้าหลักซึ่งได้แก่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เอเชีย และประเทศสหรัฐอเมริกา

ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2554 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจฟาร์มคิดเป็น 45% ของยอดขายรวม รองลงมาเป็นธุรกิจอาหารสัตว์ 36% และธุรกิจอาหารพร้อมบริโภค 19% เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และเพื่อสร้างเสถียรภาพของกระแสเงินสด บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภคที่มีตราสัญลักษณ์และการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอาหารพร้อมบริโภคให้เป็น 1 ใน 3 ของยอดขายจากกิจการประเทศไทย และเป็น 10% ของยอดขายจากกิจการต่างประเทศภายในปี 2557 พร้อมทั้งลดสัดส่วนรายได้จากธุรกิจฟาร์มซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ลง

นอกเหนือจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายแล้ว บริษัทยังขยายกิจการในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องอีกหลายแห่งเนื่องจากโอกาสในการเติบโตมีสูงกว่ากิจการในประเทศไทย โดยสัดส่วนรายได้จากกิจการในต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้นจาก 19% ของยอดขายรวมในปี 2552 เป็น 26% ของยอดขายรวมในปี 2553 ซึ่งมาจากยอดขายในประเทศไต้หวัน อินเดีย และมาเลเซียเป็นหลัก ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกิจการในต่างประเทศเป็น 40% ของยอดขายรวมในปี 2557

ฐานะการเงินของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารยังคงแข็งแกร่ง โดยยอดขายของบริษัทในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2554 ยังเติบโตต่อเนื่องโดยอยู่ที่ระดับ 45,744 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% จากช่วงเดียวกันของปี 2553 อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 16.1% เมื่อเทียบกับระดับ 17.3% ในปี 2553 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าปกติ ส่วนกำไรสุทธิซึ่งไม่รวมกำไรจากการขายเงินลงทุนนั้นอยู่ในระดับดีที่ 2,786 ล้านบาท แม้ว่าจะลดลง 13.6% จากช่วงเดียวกันของปี 2553 เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบธัญพืชที่มีราคาสูงกว่าปีที่แล้วและการมีผลขาดทุนจากกิจการในประเทศตุรกี จากแนวโน้มราคาวัตถุดิบธัญพืชที่ยังคงอยู่ในระดับสูง บริษัทจึงมีการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบโดยได้จัดซื้อและจัดหาวัตถุดิบที่สำคัญเอาไว้แล้วล่วงหน้า

สำหรับปี 2554 เหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงต้นปี 2554 ซึ่งส่งผลให้พื้นที่เลี้ยงสัตว์โดยรวมทั้งสัตว์บกและกุ้งได้รับความเสียหายทำให้คาดว่าราคาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ในประเทศจะยังคงอยู่ในระดับสูงตลอดปี 2554 ผลประกอบการของบริษัทในช่วงที่เหลือของปี 2554 น่าจะยังคงแข็งแรงจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ การบริหารต้นทุนวัตถุดิบที่ดี กระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และราคาสินค้าในประเทศที่มีแนวโน้มสูงในกลุ่มผลิตภัณฑ์เกือบทุกประเภท ใ

นระหว่างปี 2554-2556 บริษัทมีความต้องการเงินทุน 8,000-10,000 ล้านบาทต่อปีเพื่อใช้ลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนเพื่อใช้เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายและขยายธุรกิจในต่างประเทศ เมื่อพิจารณาจากกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ระดับ 15,000-20,000 ล้านบาทต่อปีแล้ว บริษัทน่าจะสามารถจัดหาเงินลงทุนดังกล่าวได้จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2554 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่ระดับ 44.34%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ