บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) เป็นแนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพจากแนวโน้มเครดิตเป็นลบ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวที่ระดับ ‘A-(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’ ในขณะเดียวกันฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทที่ระดับ ‘A-(tha)’
การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าอัตราส่วนต่างๆที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตของบริษัทจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นในช่วงปี 2554 — 2557 และจะสามารถคงอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบัน
ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจะเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2554 — 2557 เพื่อสนับสนุนการขยายกิจการของบริษัท ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (Adjusted net debt to EBITDAR) ของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.5 เท่าถึง 3.0 เท่าในปี 2554 จากระดับ 3.1 เท่าในปี 2553 และคาดว่าจะอยู่ในช่วง 2.0 เท่าถึง 3.0 เท่าในปี 2555 — 2557 ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากการฟื้นตัวของธุรกิจที่บริษัทดำเนินการอยู่ รวมถึงผลประโยชน์จากการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้การเลื่อนการใช้จ่ายและการกระจายการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนออกไปนานขึ้นกว่าแผนเดิม น่าจะสอดคล้องกับการฟื้นตัวของสภาวะอุตสาหกรรมยิ่งขึ้น
ฟิทช์คาดว่าธุรกิจการกลั่นน้ำมันจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2554 และปี 2555 เนื่องจากอัตราการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตใหม่ที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้ถึงแม้ว่าธุรกิจโอเลฟินส์และโพลีโอเลฟินส์อาจจะยังถูกกดดันจากกำลังการผลิตใหม่ในปี 2554 แต่การฟื้นตัวน่าจะเริ่มในปี 2555 เนื่องจากความต้องการใช้และปริมาณการผลิตน่าจะมีความสมดุลมากขึ้น
อันดับเครดิตของบริษัทมีปัจจัยสนับสนุนจากความได้เปรียบในการแข่งขันเนื่องจากการผลิตที่ต่อเนื่องครบวงจรตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย รวมถึงประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญและชื่อเสียงของบริษัทในธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายในประเทศอันยาวนาน การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ครบวงจรดังกล่าวได้สร้างความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิต ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งยังช่วยลดความผันผวนของรายได้ได้อีกด้วย
นอกจากนี้บริษัทยังสามารถลดต้นทุนการดำเนินงานจากการร่วมดำเนินการกับบริษัทในกลุ่ม บมจ. ปตท.(IRPC) ซึ่ง ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท โดยเฉพาะในด้านการจัดหาวัตถุดิบและการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตามการพึ่งพากันในการดำเนินธุรกิจและการเชื่อมต่อของการผลิตระหว่างบริษัทกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. ยังคงอยู่ในระดับที่จำกัด เนื่องจากการดำเนินธุรกิจและการผลิตของ IRPC ค่อนข้างจะเป็นอิสระและมีกระบวนการผลิตที่ต่อเนื่องครบวงจรอยู่แล้ว ซึ่งทำให้อันดับเครดิตของ IRPC สะท้อนถึงอันดับเครดิตของบริษัทโดยลำพัง (Stand-alone basis)
อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงความเสี่ยงที่บริษัทต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงของราคาน้ำมัน ค่าการกลั่น ตลอดจนราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลก ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรและการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ อันดับเครดิตยังได้สะท้อนถึงแผนการลงทุนที่สูงและการพึ่งพิงการส่งออกในธุรกิจปิโตรเคมีเนื่องจากประเทศไทยมีกำลังการผลิตโพลีเมอร์เกินความต้องการใช้ภายในประเทศ (ในปี 2553 ประเทศไทยส่งออกโพลีเมอร์ประมาณร้อยละ 48 ของโพลีเมอร์ที่ผลิตได้) นอกจากนี้บริษัทยังเผชิญกับความเสี่ยงในเรื่องวัตถุดิบสำหรับธุรกิจโรงกลั่นเนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ
การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่าที่สูงกว่า 3.25 เท่าอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากค่าการกลั่นและส่วนต่างระหว่างราคาวัตถุดิบและราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และ/หรือการเพิ่มขึ้นของการลงทุนที่ใช้เงินกู้เป็นแหล่งเงินทุน อาจนำไป สู่การปรับลดอันดับเครดิตได้ ในทางกลับกันถ้า IRPC สามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวให้อยู่ต่ำกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง อันดับเครดิตของบริษัทอาจจะมีการปรับเพิ่มได้ นอกจากนี้ความเชื่อมโยงทางด้านการดำเนินงานระหว่าง IRPC กับบริษัทแม่ (ปตท.) และความสำคัญของ IRPC ในเชิงกลยุทธ์ที่มีต่อปตท. ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากอาจส่งผลในทางบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้