สื่ออินโดนีเซียรายงานว่า หลังจากที่ได้มีการเจรจาต่อรองมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี รัฐบาลอินโดนีเซียและบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เห็นชอบเรื่องการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อคลี่คลายข้อพิพาทเรื่องน้ำมันรั่วไหลในบริเวณทะเลติมอร์ของอินโดนีเซีย
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายมาสเรลยาร์ตี ฮิลแมน หัวหน้าทีมเจรจาต่อรองจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซีย กล่าวว่าข้อตกลง MOU ฉบับนี้จะระบุเนื้อหาและกลไกในการจ่ายค่าชดเชยให้กับอินโดนีเซีย โดยข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นคำมั่นที่ชัดเจนของ PTTEP ที่จะคลี่คลายข้อพิพาทเรื่องการรั่วไหลของน้ำมัน อย่างไรก็ดี เราไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลในรายละเอียดของข้อตกลงได้ เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการเจรจาต่อรอง
แท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัท PTTEP Australasia ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งของชายฝั่งทางเหนือของออสเตรเลียเกิดระเบิดขึ้นเมื่อเดือนส.ค. 2552 ส่งผลให้น้ำมัน รั่วไหลออกมา 2,000 บาร์เรลต่อวัน และหยุดรั่วไหลเมื่อเดือนพ.ย. 2552
อินโดนีเซียได้เริ่มเจรจาต่อรองเรื่องความเสียหายทางการเงินเมื่อเดือนก.ค. 2553 และได้ยื่นเอกสารเรียกร้องค่าชดเชยต่อบริษัทเมื่อเดือนต.ค. 2552
รายงานก่อนหน้านี้ระบุว่า อินโดนีเซียต้องเงินชดเชย 2.4 พันล้านดอลลาร์ แต่ PTTEP เห็นควรว่าจะจัดโครงการในรูปแบบของหลักการความรับผิดชอบต่อสังคม (ซีเอสอาร์) มูลค่า 5 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือชาวประมงในบริเวณทะเลติมอร์ที่ได้รับผลกระทบ
หัวหน้าทีมเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยด้านการบริหารจัดการสารอันตราย ขยะอันตราย และขยะที่เป็นของแข็งประจำกระทรวง กล่าวย้ำว่า รัฐบาลจะยังคงเรียกร้องค่าชดชยจากบริษัทต่อไป ไม่เฉพาะแต่โครงการด้านซีเอสอาร์เท่านั้น และรัฐบาลจะไม่ยอมแพ้