ทริสฯคงเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ไม่มีประกันCENTELที่ "A-" แนวโน้มเครดิต"Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 28, 2011 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของ บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) ที่ระดับ “A-" พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ของบริษัทในวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทที่ระดับ “A-" เช่นกัน ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิตเปลี่ยนเป็น “Stable" หรือ “คงที่" จาก “Negative" หรือ “ลบ"

โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนการมีแหล่งกระแสเงินสดที่กระจายตัวทั้งจากธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหารบริการด่วน รวมทั้งสถานะผู้นำในธุรกิจอาหารบริการด่วน และการมีโรงแรมที่มีความหลากหลายด้วยสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการที่บริษัทได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเซ็นทรัลด้วย อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะของธุรกิจโรงแรมที่ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและถูกกระทบได้ง่ายจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้หลายประการ รวมทั้งจากลักษณะของธุรกิจอาหารบริการด่วนที่มีอัตรากำไรต่ำ

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมทั้ง 2 ประเภทจัดว่ามีการแข่งขันที่รุนแรงเมื่อพิจารณาจากอุปสงค์ของจำนวนห้องพักที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและการทำการตลาดเชิงรุกในหมู่ผู้ประกอบการอาหารบริการด่วน ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2553 เนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่สงบลง อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทยังถือว่าอยู่ในระดับสูงซึ่งสืบเนื่องมาจากการขยายธุรกิจโรงแรมในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเป็นสำคัญ

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะได้รับประโยชน์จากโรงแรมหลายแห่งที่ก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ซึ่งจะทำให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะแข็งแกร่งขึ้นโดยบริษัทจะต้องดำรงสัดส่วนภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายให้อยู่ในระดับที่ไม่มากเกินกว่า 3.5 เท่าให้ได้

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซาก่อตั้งโดยตระกูลจิราธิวัฒน์ในปี 2523 เพื่อดำเนินธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย ปัจจุบันบริษัทบริหารโรงแรมจำนวน 31 แห่งในประเทศและ 6 แห่งในต่างประเทศ ด้วยจำนวนห้องพักกว่า 5,800 ห้อง โรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของมีทั้งสิ้น 14 แห่ง โดย 4 แห่งเป็นเจ้าของในลักษณะของการร่วมทุน ทั้งนี้ โรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของคิดเป็นสัดส่วน 61% ของจำนวนห้องทั้งหมด บริษัทบริหารงานโรงแรมภายใต้แบรนด์ “เซ็นทารา" ยกเว้นโรงแรมโซฟิเทลเซ็นทาราแกรนด์รีสอร์ทแอนด์วิลล่าหัวหินที่บริหารโดย Accor International

บริษัทดำเนินธุรกิจอาหารบริการด่วนภายใต้การบริหารงานของบริษัทในเครือคือ บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ซึ่งเปิดบริการขายอาหารภายใต้แฟรนไชส์จากต่างประเทศหลากหลายแบรนด์ เช่น “เคเอฟซี" “มิสเตอร์โดนัท" “อานตี้ แอนส์" “เป็ปเปอร์ลันช์" “เบรดปาปา" “ชาบูตง" “โคลด์ สโตน ครีเมอรี" และ “คาเฟ่ อันโดนัน" รวมทั้ง แบรนด์ของบริษัทเองคือ “ริว ชาบู ชาบู" ด้วยจำนวนสาขารวมทั้งหมด 512 แห่งทั่วประเทศ ณ เดือนมีนาคม 2554 โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รายได้จากธุรกิจอาหารคิดเป็นสัดส่วน 54%-60% ของรายได้รวมทั้งหมด ในขณะที่รายได้ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจโรงแรม

จากความวุ่นวายของสถานการณ์การเมืองภายในประเทศในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ได้ลดความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวซึ่งส่งผลกระทบในทางลบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ทำให้ความต้องการห้องพักลดลง โดยที่อัตราการเข้าพักโรงแรมของบริษัทลดลงจาก 60.7% ในปี 2552 เป็น 58.1% ในปี 2553 ในขณะที่อัตราการเข้าพักโรงแรมของประเทศไทยอยู่ที่ 50.2% ในปี 2553 ส่วนอัตรารายได้ต่อห้องพักที่มีอยู่ของบริษัท (Revenue Per Available Room -- RevPAR) โดยเฉลี่ยลดลงถึง 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงปลายปี 2553 ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปี 2554 เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองสงบลงและหลายประเทศได้ยกเลิกการเตือนภัยในการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 8.4% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 และเพิ่มขึ้น 14.5% ในไตรมาสแรกของปี 2554 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดังนั้น ในไตรมาสแรกของปี 2554 อัตราการเข้าพักโรงแรมของบริษัทก็กลับสู่ระดับ 70.6% และอัตรารายได้ต่อห้องพักที่มีอยู่โดยเฉลี่ยก็เพิ่มขึ้นถึง 10% สู่ระดับ 3,155 บาทต่อวัน

แม้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปี 2553 จะอ่อนตัวลง แต่รายได้ของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้น 11% สู่ระดับ 9,141 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากธุรกิจอาหารเพิ่มขึ้นถึง 16% ในขณะที่รายได้จากธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้น 6% จากการเปิดให้บริการเต็มปีของโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ มิราจ บีชรีสอร์ท พัทยา รายได้รวมของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 เพิ่มขึ้นถึง 18% สู่ระดับ 2,914 ล้านบาทเนื่องจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการเปิดให้บริการโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บีชรีสอร์ท ภูเก็ต และการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจอาหารบริการด่วน อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 15.0% ในปี 2552 เป็น 16.2% ในปี 2553 และปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 25.2% ในไตรมาสแรกของปี 2554 เนื่องจากการประหยัดจากขนาดในธุรกิจอาหารและผลประกอบการที่ดีขึ้นของธุรกิจโรงแรม

สภาพคล่องของบริษัทมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 10.0% ในปี 2552 เป็น 10.8% ในปี 2553 และอยู่ที่ระดับ 6.4% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นจากระดับ 4.9 เท่าในช่วงปี 2552-2553 เป็น 7.5 เท่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 โดยบริษัทคาดว่าผลประกอบการในปี 2554 จะปรับตัวดีขึ้นเนื่องบรรยากาศทางการเมืองที่ดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง นอกจากนี้ โรงแรมหลายแห่งที่บริษัทปรับปรุงแล้วเสร็จคาดว่าจะเริ่มสร้างกำไรและกระแสเงินสดได้ในไม่ช้า

อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 60% ตั้งแต่ปี 2553 และคงอยู่ที่ระดับ 63% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 เนื่องจากบริษัทมีการขยายงานอย่างมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยบริษัทใช้เงินทุนมากกว่า 10,000 ล้านบาทเพื่อลงทุนขยายโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง เช่น กรุงเทพฯ กระบี่ พัทยา ภูเก็ต และเกาะมัลดีฟ อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะลดลงเนื่องจากบริษัทไม่มีแผนการลงทุนจำนวนมากในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ประมาณ 2,900 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ