ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กผิดหวังGDPสหรัฐ-เจรจาหนี้ไม่คืบ ถ่วงดาวโจนส์ปิดลบ 96.87 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday July 30, 2011 07:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเป็นวันที่หกติดต่อกันเมื่อคืนนี้ (29 ก.ค.) ส่งให้ตลาดวอลล์สตรีทปิดท้ายสัปดาห์อย่างไม่สดใสด้วยการร่วงลงมากที่สุดในรอบประมาณหนึ่งปี เนื่องจากมีหลักฐานบ่งชี้มากขึ้นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอ่อนแอลงมาก หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐเปิดเผยอัตราการขยายตัวที่น้อยเกินคาดของจีดีพีในไตรมาสสอง และการที่การเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ยังไม่คืบหน้า แม้กำหนดเส้นตายผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐกำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดลบ 96.87 จุด หรือ 0.79% แตะที่ 12,143.24 จุด ดัชนี S&P 500 ปิดลบต่อเนื่องเป็นวันที่ห้าที่ 8.39 จุด หรือ 0.65% แตะ 1,292.28 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดลบ 9.87 จุด หรือ 0.36% แตะที่ 2,756.38 จุด

โดยทั้งดัชนีดาวโจนส์ และ S&P 500 ร่วงลงประมาณ 4% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดในรายสัปดาห์ นับตั้งแต่ฤดูร้อนปีที่แล้ว

นักวิเคราะห์กล่าวว่า หุ้นเผชิญแรงขายทั่วทั้งกระดานวานนี้ เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังกับตัวเลขจีดีพี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวต่ำกว่าคาดในไตรมาส 2/2554

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัว 1.3% ต่อปีในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2554 ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวที่ประมาณ 1.8% เนื่องจากการบริโภคส่วนบุคคลชะลอตัวลงอย่างรุนแรง ท่ามกลางราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น

พร้อมกันนี้ ทางกระทรวงยังได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกลงอย่างมากเหลือเพียง 0.4% จาก 1.9% ซึ่งอ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยสิ้นสุดลงเมื่อสองปีก่อน โดยเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวไม่ถึง 2% เป็นเวลาสองไตรมาสติดต่อกัน นับเป็นการยืนยันว่าเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างชัดเจน

ข้อมูลจีดีพีล่าสุดซึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังขาดแรงผลักดัน ยิ่งเป็นการกระตุ้นความวิตกกังวลในตลาด ท่ามกลางการเจรจาเรื่องการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐที่ประสบกับทางตันมานาน โดยมีนักลงทุนจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่วิตกว่าสภาคองเกรสจะไม่สามารถประนีประนอมกันเพื่อบรรลุข้อตกลงลดยอดขาดดุลงบประมาณและเพิ่มเพดานหนี้ได้ก่อนกำหนดเส้นตายในวันที่ 2 สิงหาคมนี้ ขณะที่มีกระแสคาดการณ์ว่า กำลังมีความเป็นไปได้มากขึ้นว่า พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจากระดับสูงสุดในปัจจุบันที่ AAA

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ออกมาเรียกร้องให้สภาคองเกรสบรรลุข้อตกลงกันให้ได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะ

“มีหลายวิธีในการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้ แต่นั่นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองพรรค และต้องเกิดขึ้นโดยเร็ว” โอบามากล่าว “เราใกล้จะหมดเวลาแล้ว”

ในขณะเดียวกัน ก็มีนักลงทุนจำนวนมากขึ้นที่เชื่อว่า รัฐบาลสหรัฐจะสูญเสียอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดที่ AAA แม้จะสามารถปรับเพิ่มเพดานหนี้ได้ทันการ

“กระแสคาดการณ์เรื่องผิดนัดชำระหนี้อาจมากเกินไป แต่การปรับลดอันดับมีความเป็นไปได้จริง ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขายังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องปรับเพิ่มเพดานหนี้ได้นั้น เป็นสาเหตุให้เกิดความวิตกกังวลในตลาดอย่างแท้จริง” เคนเนธ โพลคารี กรรมการผู้จัดการที่ ICAP Equities กล่าว

อย่างไรก็ดี แม้จะมีความกังวลและความระมัดระวังต่างๆนานา แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่า สหรัฐจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในนาทีสุดท้าย

อลัน วาลเดส ประธาน U.S. Huade International Company และเทรดเดอร์ที่มีประสบการณ์การซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมายาวนานกว่า 33 ปี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า “ผมเชื่อว่าพวกเขาจะบรรลุข้อตกลงบางอย่างได้ในวันที่ 1 สิงหาคม ผมไม่คิดว่าพวกเขาจะกล้าปล่อยให้สหรัฐผิดนัดชำระหนี้ เพราะพวกเขาทราบดีว่ามันเสี่ยงแค่ไหน และพวกเขาอาจจะได้ข้อตกลงในชั่วโมงสุดท้าย"

ทั้งนี้ หุ้นเมอร์ค แอนด์ โค บริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่อันดับสองของสหรัฐ ร่วง 2.3% หลังบริษัทเผยว่ามีแผนปรับลดจำนวนพนักงานอีก 12-13% ภายในปี 2558 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างของบริษัท โดยเมอร์คเป็นหนึ่งในหุ้นที่ร่วงลงมากที่สุดในดัชนีดาวโจนส์

ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานและวัสดุนำดัชนี S&P 500 ร่วงลง หลังจากที่มีการเปิดเผยรายงานจีดีพี โดยเชฟรอนร่วง 1% แม้บริษัทเปิดเผยผลประกอบการไตรมาสสองที่ดีเกินคาด ส่วนนิวมอนท์ ไมน์นิง คอร์ป ร่วง 3.7% หลังผู้ผลิตทองคำรายใหญ่สุดของสหรัฐ รายงานผลกำไรไตรมาสสองที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ เพราะต้นทุนการทำเหมืองที่เพิ่มสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ