ทริสฯคงเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ไม่มีประกัน KTC ที่ "BBB+" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 1, 2011 11:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. บัตรกรุงไทย (KTC) คงเดิมที่ระดับ “BBB+" ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 7,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB+" เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงการมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์สูง ตลอดจนสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจบัตรเครดิต และระบบการจัดการความเสี่ยงที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนการได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 49.45% ด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดในด้านต้นทุนทางการเงินของบริษัท และภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น รวมถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อและความสามารถในการทำกำไรในอนาคตของทั้งอุตสาหกรรม

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถขยายสินเชื่ออย่างระมัดระวังและรักษาสมดุลย์ของทั้งธุรกิจและสัดส่วนของลูกค้าในกลุ่มต่างๆ ในขณะที่ยังสามารถคงคุณภาพสินทรัพย์เอาไว้ได้ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากเกิดวิกฤตเมื่อปี 2551 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าธนาคารกรุงไทยจะยังคงให้การสนับสนุนบริษัทอย่างต่อเนื่องทั้งทางด้านการเงินและการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งบริษัทจะสามารถบรรลุแผนการสร้างความต่อเนื่องในการบริหารงานได้ในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนปัจจุบันจะหมดวาระในช่วงปลายปีนี้

ทริสเรทติ้งรายงานว่า แม้ว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หลายแห่งได้พยายามอย่างหนักที่จะรุกขยายฐานลูกค้าในธุรกิจบัตรเครดิต แต่ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมาบริษัทบัตรกรุงไทยก็ยังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของตนในธุรกิจดังกล่าวเอาไว้ได้ที่ระดับ 12%-13% ทั้งในด้านยอดใช้จ่ายผ่านบัตรและจำนวนผู้ถือบัตร โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้นจาก 54.4 พันล้านบาทในปี 2549 เป็น 87.9 พันล้านบาทในปี 2553 ในขณะที่จำนวนผู้ถือบัตรเพิ่มขึ้นจาก 1.40 ล้านบัญชีเป็น 1.73 ล้านบัญชี โดยมียอดลูกหนี้สินเชื่อบัตรเครดิตของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 16.5% ของอุตสาหกรรม ณ สิ้นปี 2553 ในส่วนของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งบริษัทเริ่มให้บริการในปี 2546 นั้น บริษัทสามารถขยายส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านยอดลูกหนี้สินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 4.6% ในปี 2549 เป็น 6.1% ในปี 2553

การที่บริษัทบัตรกรุงไทยใช้การกู้ยืมและการออกตราสารหนี้เป็นแหล่งเงินทุนหลักในขณะที่คู่แข่งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนทางการเงินที่ถูกกว่าจากการมีฐานเงินฝากเป็นแหล่งเงินทุนทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินสูง ซึ่งส่งผลในการลดทอนความแข็งแกร่งทางธุรกิจและทำให้ยากต่อการแข่งขันเพื่อขยายส่วนแบ่งทางการตลาด ต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยของบริษัทในปี 2553 อยู่ในระดับเดียวกับปี 2552 ที่ 4.8% และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของตลาดในช่วงนี้มีแนวโน้มผลักดันให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554 เงินกู้ยืมของบริษัทประมาณ 90% เป็นเงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ซึ่งจะทยอยครบกำหนดชำระในปี 2554 2555 และ 2556 ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดของทางการในเรื่องอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมที่สามารถเรียกเก็บ หรือคุณสมบัติของผู้ถือบัตรเครดิตและลูกค้าสินเชื่อบุคคลที่กลายเป็นข้อจำกัดในการขยายตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เมื่อประกอบกับสภาพการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แล้วถือเป็นปัจจัยที่ยังคงกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่อไป

จากการที่บริษัทบัตรกรุงไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายทำให้ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องระยะสั้นมิใช่ประเด็นที่น่าเป็นห่วง กล่าวคือบริษัทมีเงินทุนที่ใช้สนับสนุนสภาพคล่องจากเงินกู้ที่ได้จากสถาบันการเงินหลายแห่งและจากหุ้นกู้ที่มีวันครบกำหนดชำระหนี้ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้ใช้จากธนาคารกรุงไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 อีก 18,030 ล้านบาทด้วย

นอกจากการสนับสนุนในด้านเงินทุนแล้ว บริษัทยังสามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสาขาของธนาคารกรุงไทยที่มีอยู่ทั่วประเทศในการขยายฐานลูกค้า โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จำนวนลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของบริษัทที่เพิ่มขึ้นประมาณ 10%-20% นั้นมาจากช่องทางดังกล่าว

ยอดลูกหนี้สินเชื่อรวมของบริษัทเติบโตเพียงเล็กน้อยจาก 47,237 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2552 เป็น 48,026 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2553 แต่ยังคงต่ำกว่า 50,587 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากหลายปัจจัยซึ่งรวมถึงนโยบายการขยายสินเชื่อส่วนบุคคลที่เข้มงวดขึ้นในปี 2552 จากผลของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ตลอดจนสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้บัตรเครดิตที่ชำระเต็มจำนวนในปี 2553 และนโยบายการเร่งตัดหนี้สูญให้เร็วขึ้นซึ่งเริ่มใช้ในปี 2552

ในด้านคุณภาพสินทรัพย์นั้น อัตราสินเชื่อค้างชำระ (เกิน 90 วัน) ของบริษัทลดลงจากที่เคยสูงสุดกว่า 5.0% ในระหว่างปี 2552 มาอยู่ที่ 4.0% ณ สิ้นปี 2552 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.5% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2554 อัตราหนี้สูญตัดบัญชีสุทธิได้ปรับลดกลับลงมาอยู่ที่ 6.8% ในปี 2553 หลังจากที่เคยพุ่งสูงขึ้นถึง 10.4% ในปี 2552 จากผลของการถดถอยลงของคุณภาพสินทรัพย์และการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางบัญชีเพื่อเตรียมความพร้อมในการนำมาตรฐานบัญชีระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสถาบันการเงินฉบับที่ 39 (IAS 39) มาใช้ ซึ่งมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจาก 3,288 ล้านบาทในปี 2551 เป็น 5,604 ล้านบาทในปี 2552

บริษัทมีกำไรสุทธิ 224 ล้านบาทในปี 2553 และ 60 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2554 เทียบกับผลขาดทุนสุทธิ 395 ล้านบาทในปี 2552 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังอยู่ในระดับต่ำกว่าผลกำไรที่บริษัทเคยทำได้ในช่วงปี 2551 และก่อนหน้านั้นอยู่มาก ผลขาดทุนในปี 2552 นั้นเป็นผลมาจากการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญจำนวนมาก หากพิจารณาแยกค่าใช้จ่ายดังกล่าวออกจะพบว่าบริษัทมีกำไรที่ยังไม่เสียภาษีก่อนตั้งสำรองเพิ่มขึ้นจาก 3,997 ล้านบาทในปี 2551 เป็น 4,462 ล้านบาทในปี 2552 แต่ตัวเลขดังกล่าวกลับลดต่ำลงเหลือ 3,690 ล้านบาทในปี 2553 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวของยอดลูกหนี้สินเชื่อในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยและนโยบายสินเชื่อที่เข้มงวดยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ