ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ลบ 10.75 จุดขณะตลาดจับตาผลโหวตเพดานหนี้สหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 2, 2011 06:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (1 ส.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตที่ชะลอตัวลงในเดือนก.ค. อย่างไรก็ตาม ดัชนีดาวโจนส์ทะยานขึ้นแข็งแกร่งในระหว่างวัน ก่อนที่จะปิดลดลงเพียงเล็กน้อย เนื่องจากตลาดได้แรงหนุนจากความคาดหวังที่ว่าสภาคองเกรสจะผ่านร่างกฎหมายการปรับเพิ่มเพดานหนี้ได้ก่อนวันที่ 2 ส.ค.

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดลบ 10.75 จุด หรือ 0.09% แตะที่ 12,132.49 จุด ดัชนี S&P 500 ปิดลบ 5.34 จุด หรือ 0.41% แตะที่ 1,286.94 จุด ดัชนี Nasdaq ปิดลบ 11.77 จุด หรือ 0.43% แตะที่ 2,744.61 จุด

ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 4.4 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบในอัตราส่วนเกือบ 1 ต่อ 1

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ในช่วงเช้านั้น ตลาดหุ้นนิวยอร์กพุ่งขึ้นกว่า 1% หลังจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐ ออกแถลงการณ์ว่า รัฐบาลสหรัฐได้บรรลุข้อตกลงการปรับเพิ่มเพดานหนี้และการลดยอดขาดดุลงบประมาณ ร่วมกับผู้นำพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตแล้ว โดยข้อตกลงดังกล่าวกำหนดว่า รัฐบาลจะต้องปรับลดการใช้จ่ายมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 10 ปี และจะปรับเพิ่มเพดานหนี้ 14.3 ล้านล้านดอลลาร์ไปจนถึงปี 2555

แต่หลังจากนั้นไม่นานตลาดหุ้นนิวยอร์กเริ่มอ่อนแรงลงและถอยร่นลงมาปิดในแดนลบในที่สุด หลังจากสถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนก.ค.ของสหรัฐขยายตัวที่ระดับ 50.9 จุด ซึ่งชะลอตัวลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.ที่ขยายตัว 55.3 จุด และลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ 54.9 จุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาคการผลิตอ่อนแอลงอันเนื่องมาจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง

นักวิเคราะห์จากเฟดเดอเรทเต็ด อินเวสเตอร์สกล่าวว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตที่อ่อนแอลงอย่างมากของสหรัฐได้สร้างแรงกดดันให้กับตลาด เนื่องจากภาคการผลิตเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจสหรัฐ และเป็นดัชนีชี้วัดสุขภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ นอกจากนี้ นักลงทุนมองว่าดัชนีภาคการผลิตเดือนก.ค.ยังขัดแย้งกับการคาดการณ์ของเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

นักลงทุนส่วนใหญ่มีท่าทีระมัดระวังการซื้อขาย พร้อมกับจับตาดูผลการลงมติร่างกฎหมายการปรับเพิ่มเพดานหนี้และการลดงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐบาล ก่อนที่จะถึงกำหนดเส้นตายในช่วงเวลาเที่ยงคืนของวันอังคารที่ 2 ส.ค.ตามเวลาประเทศไทย ขณะที่นักลงทุนบางกลุ่มกังวลว่า หากสภาคองเกรสไม่ปรับเพิ่มเพดานหนี้ได้ก่อนเวลาดังกล่าว ก็จะทำให้รัฐบาลสหรัฐไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามพันธกรณีทางกฎหมาย รวมถึงเงินเดือนและเงินบำเน็จบำนาญข้าราชการ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ข้อตกลงการปรับเพิ่มเพดานหนี้และลดยอดขาดดุลงบประมาณที่เกิดจากการประนีประนอมผู้นำพรรครีพับลิกันและเดโมแครตเมื่อวานนี้นั้น จะช่วยให้เพดานหนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐปรับเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมากพอที่จะช่วยให้ทำเนียบขาวมีงบประมาณเพียงพอในการใช้จ่ายได้จนถึงหลังการเลือกตั้งปี 2555 อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่แน่นอน เพราะยังจะต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาซึ่งพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมาก และสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก

หุ้นกลุ่มธุรกิจสุขภาพร่วงลงเกือบ 2% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงหนักสุดในบรรดาหุ้น 10 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P 500 โดยหุ้นยูไนเต็ด เฮลธ์แคร์กรุ๊ป หุ้นเอ็ทนา อิงค์ และหุ้นเซนต์ จูด เมดิคัล อิงค์ ดิ่งลงกว่า 2.5% หลังจากมีรายงานว่า รัฐบาลสหรัฐวางแผนที่จะลดอัตราการคืนผลตอบแทนให้กับโครงการประกันสุขภาพประมาณ 11%

นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยวันอังคาร กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยรายได้ส่วนบุคคลเดือนมิ.ย. วันพุธ ADP Employer Services จะเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานทั่วประเทศเดือนก.ค., สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยดัชนีภาคบริการและดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจเดือนก.ค. และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยยอดสั่งซื้อของโรงงานเดือนมิ.ย.

ส่วนวันพฤหัสบดี กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และวันศุกร์ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ