KBS มั่นใจงวดปี 54 กำไรโตกระโดด ปี 55 โตต่อเนื่อง ราคาน้ำตาลยังขาขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 2, 2011 12:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.น้ำตาลครบุรี(KBS)ผู้ผลิต 1 ใน 10 ของอุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาลของไทย กลายเป็นจุดสนใจทันทีที่นำหุ้นเข้าเทรดเมื่อ 27 พ.ค.54 หลังราคาหุ้นทะยานจากราคา IPO ที่ 9.10 บาท KBS ยังอวดผลงานงวด 6 เดือนแรกของปี 54 (ต.ค.53-มี.ค.54)ด้วยกำไรสุทธิ 266 ล้านบาท สูงขึ้นมากจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 167 ล้านบาท แถมยังมีเงินปันผลอีก 0.40 บาท/หุ้น

นายถกล ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ KBS ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"โดยคาดว่างวดปี 54 กำไรสุทธิจะเติบโตมากกว่า 100% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 167 ล้านบาท โดยงวดครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิแล้ว 266 ล้านบาท และรายได้รวมปีนี้น่าจะเติบโต 10% จากปีก่อนทำได้ 4.8 พันล้านบาท โดยงวดครึ่งหลังของปีนี้จะมีรายได้และกำไรสูงกว่าครึ่งปีแรก เพราะมีปริมาณส่งออกน้ำตาลสัดส่วน 60% สูงกว่าครึ่งปีแรกที่มีสัดส่วน 40%

“ถือว่าเราโชคดีที่เข้าตลาดในช่วงจังหวะราคาน้ำตาลดี และปริมาณผลิตก็เยอะ เราก็มองว่าปีหน้ายังดีอยู่"นายถกล กล่าว

นายถกล ให้เหตุผลว่าสิ่งที่สำคัญที่ทำให้ผลกำไรในปีนี้ก้าวกระโดด มาจากปริมาณการหีบอ้อยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้น 40% เป็น 2.8 ล้านตันอ้อย จากปีก่อน 2 ล้านตันอ้อย อีกทั้งราคาน้ำตาลส่งออกสูงขึ้น ทำให้ราคาขายเฉลี่ยขึ้นมาอยู่ที่ 23 เซนต์/ปอนด์ จาก 21 เซนต์/ปอนด์ในปี 53

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปีนี้มีผลผลิตเข้ามามาก ทำให้บริษัทต้องผลิตเป็นน้ำตาลทรายดิบในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้ และผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์สัดส่วนน้อยลง โดยงวดปี 54 บริษัทส่งออกน้ำตาลทรายดิบเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 15% จากทุกปีอยู่ที่ไม่เกิน 10%ซึ่งปีนี้ผลผลิตอ้อยทั่วประเทศมีจำนวน 95 ล้านตันอ้อย จากปีที่แล้ว 65 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้น 40% โดย KBS มีส่วนการตลาดที่ 2.9%

นอกจากนี้ บริษัทมีรายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านบาทจาก 60 ล้านบาทในปี 53 หลังจากเพิ่มกำลังการลิตเป็น 5 เมกะวัตต์ จากปีก่อนที่มีกำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น เพราะต้นทุนไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก

นายถกล กล่าวว่า งวดปี 55 คาดว่าภาพรวมผลผลิตอ้อยของประเทศจะเพิ่มเป็น 100 ล้านตันอ้อย และบริษัทจะหีบอ้อยได้ 2.9 ล้านตันอ้อย โดยขณะนี้ได้ทำสัญญาขายน้ำตาลล่วงหน้าไปแล้ว 85% ราคาใกล้เคียง 23 เซนต์/ปอนด์ และที่เหลือ 15% จะขายล่วงหน้าให้เสร็จก่อนจะเปิดหีบอ้อยในปลาย พ.ย.54

"ราคาที่ได้ถือว่าเป็นราคาดีมาก ซึ่งราคาน้ำตาลเคยต่ำสุด 6 เซนต์ และสูงสุดที่ 35 เซนต์ขึ้นในปีที่แล้ว"นายถกล กล่าว

แนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังเป็นขาขึ้น เนื่องจากปริมาณความต้องการและผลผลิตมีพอดีกัน เทียบกับอดีตที่ยังมีสต็อกน้ำตาลเหลืออยู่ จากก่อนหน้าคาดว่า 54/55(ต.ค.54-ก.ย.55)ผลผลิตจะมากกว่าการบริโภค แต่กลับไม่เป็นอย่างนั้นเพราะบราซิลผลิตได้ต่ำลงประมาณ 50 ล้านตันอ้อย จากที่คาดว่าผลิตได้ 600 ล้านตันอ้อย/ปี ทำให้ราคาขยับขึ้นจาก 21 เซนต์/ปอนด์ มาเป็น 30 เซนต์/ปอนด์ในปัจจุบัน ขณะที่จีนและอินเดียมีการบริโภคมากขึ้น

“เมื่อราคาน้ำตาลส่งออกปรับตัวขึ้นทำให้อัตรากำไรขั้นต้น(มาร์จิ้น) ก็ดีขึ้นด้วย มาร์จิ้นปีหน้าก็ยังดีขึ้นกว่าปีนี้ เราจะผลิตได้ 2.9 ล้านตันอ้อย จากทั้งหมด 100 ล้านตันอ้อย บวกกับราคาที่ขายล่วงหน้าแล้ว ทำให้ปริมาณและราคาดีไม่แพ้ปีที่ผ่านมา"นายถกล กล่าว

อย่างไรก็ดี นายถกล คาดว่า กำไรสุทธิงวดปี 55 จะดีกว่าปี 54 และรายได้เติบโตมากกว่า 15% จากปีที่ผ่านมา

“ผลประกอบการในงวดปี 55 คงไม่ได้เพิ่มมากแล้ว คิดว่าวอลุ่มกับราคานี้น่าพอใจมาก กำไรทั้งปีจะป็นอย่างไรต้องดูที่เราทำราคาอีก 15%ว่ามีราคาเท่าไร แต่เรามองว่าราคาในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ก็จะบ่งบอกว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้นมากเท่าไร กว่าปีที่ผ่านมายังต้องรอเพราะทำราคายังไม่หมด ทำได้ 85%"นายถกล กล่าว

*อนาคตน้ำตาลสดใสอิงพลังงานทดแทน

กรรมการผู้จัดการ KBS กล่าวว่า ราคาน้ำตาลตลาดโลกเริ่มเป็นขาขึ้นเมื่อปีการผลิต 51/52 ที่ราคาเฉลี่ย 19 เซนต์/ปอนด์ และปี 52/53 กับปี 53/54 ราคาขยับขึ้น 21 เซนต์/ปอนด์ และ 23 เซนต์/ปอนด์ตามลำดับ เนื่องจากเทคโนโลยีที่นำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานทดแทน ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่หนุนให้ราคาน้ำตาลไม่ปรับตัวลงมาต่ำเหมือนในอดีต

นอกจากนี้ ยังมีความต้องการน้ำตาลเพิ่มมาจากประเทศเกิดใหม่ คือ จีน และอินเดีย ตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น โดยส่วนใหญ่ใช้เพื่อบริโภคในรูปต่างๆ เช่น ขนมขบเขี้ยว เบเกอร์รี่ ชา กาแฟ น้ำอัดลม เป็นต้น

“เราไม่ห่วงเรื่องดีมานด์ซัพพลายว่าจะกลับมาแย่เหมือนอดีตที่ราคาลดลงเหลือ 9-10 เซนต์/ปอนด์ ผมมองว่าราคา 15 เซนต์ก็จะไม่มีวันเห็น ราคาต่อให้แย่อย่างไรจะอยู่ระดับ 17-18 เซนต์เท่านั้น การผลิตในไทยราคาที่ 15 เซนต์ก็อยู่ได้แล้ว เนื่องจากบราซิลที่เป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่ง เมื่อก่อนต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย แต่ปัจจุบันสูงกว่า ราคาต้นทุนที่บราซิลอยู่ได้ที่ 18 เซนต์ ถ้าต่ำกว่านั้น เขาก็ขาดทุน แต่ไทยราคาขายที่ 15-16 เซนต์ เราไม่มีกำไรแต่ก็ไม่ขาดทุน แต่จะไม่มีวันราคาลงมาที่ 9-10 เซนต์ เพราะเมื่อก่อนใช้บริโภคอย่างเดียว แต่ปัจจุบันอ้อยอิงกับพลังงาน ภาพมันเปลี่ยนไปแล้ว"นายถกล กล่าว

ความเสี่ยงธุรกิจนี้ในอดีตอยู่ที่ดีมานด์-ซัพพลาย หากปีใดราคาดีมากก็จะมีการปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น ปีต่อไปก็จะมีผลผลิตล้นตลาด ราคาก็จะตก แต่ขณะนี้ปัจจัยดังกล่าวถูกหักออกไป เพราะมีการนำน้ำตาลเอาไปผลิตเอทานอล ทำให้อ้อยกลายเป็นพืชพลังงาน ความเสี่ยงเดิมตกไป มองว่าพลังงานมีแต่แพงขึ้นมีแต่ขาดแคลนไม่มีลดลง ส่วนเรื่องดินฟ้าอากาศซึ่งไม่มีใครควบคุมได้

*แผนขยายการผลิต

นายถกล กล่าวว่า บริษัทได้วางแผนการขยายกำลังการผลิต ทั้งการผลิตไฟฟ้า ขยายพื้นที่ปลูกอ้อย เพราะฉะนั้นยอดขายและกำไรจะต้องเติบโตตามที่วางไว้ จากนี้อีก 2 ปีจะมีรายได้จาการขายไฟ จาก 5 เมกกะวัตต์ เป็น 8 เมกกะวัตต์ และขยายการผลิตน้ำตาลเป็น 2.3 หมื่นตันอ้อย/วัน ถัดไปอีก 2 ปี กำลังการผลิตจะเพิ่มเป็น 2.8 หมื่นตันอ้อย/วัน เพื่อให้การผลิตน้ำตาลเพิ่มอีก 5 แสนตัน/ปี

ตามหนังสือชี้ชวน บริษัทจะใช้เงินลงทุน 500 ล้านบาทจากการขายหุ้น IPO สำหรับเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า เป็น 8 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตเป็น 5 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ บริษัทลงทุน 600 กว่าล้านบาทในการขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 2.3 หมื่นตันอ้อย/วัน จาก 2.1 หมื่นตันอ้อย/วัน โดยใช้เงินจากบริษัท 300 ล้านบาท และเงินจากการขายหุ้น IPO อีกกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มเดินเครื่องได้เต็มที่ในงวดปี 55

และบริษัทมีแผนจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 2.8 หมื่นตันอ้อย/วันในปี 58 ใช้เงินลงทุนกว่า 1 พันล้านบาท จากกำไรสะสมของบริษัทที่จะมีเหลือทุกปีหลังหักเงินปันผลที่จ่าย 40% ของกำไรสุทธิ รวมกับเงินกู้จากสถาบันการเงินบางส่วน โดยบริษัทจะพยายามรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ 1 เท่า จากขณะนี้ต่ำกว่า 1 เท่า ซึ่งหากดำเนินโครงการแล้วจะทำให้อัตราหนี้สินต่อทุนเพิ่มมากกว่า 1 เท่าก็จะชะลอออกไปก่อน

ปัจจุบัน KBS มีเงินกู้จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำนวน 800 กว่าล้านบาท ระยะเวลาชำระคืน 6 ปี

รวมทั้งจะขยายพื้นที่ปลูกอ้อยปีละ 3-5 หมื่นไร่ โดยวิธีส่งเสริมการให้ชาวไร่อ้อยด้วยการให้เงินไปใช้ก่อนในรูปแบบสินเชื่อ ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลของบริษัท และพื้นที่ปลูกอ้อยส่วนใหญ่อยู่ใน จ.นครราชสีมา

ขณะที่ธุรกิจเอทานอล ภายใต้ บริษัท ครบุรีไบโอเอนเนอร์ยี่ จำกัด ยังชะลอการดำเนินกิจการออกไปก่อน เนื่องจากสภาพคลาดขณะนี้มีกำลังการผลิตเอทานอลเกินความต้องการมาก จากผลผลิตทั้งหมด 1.8-2.0 ล้านลิตร แต่นำไปใช้จริง 1.2 ล้านลิตร ขณะเดียวกันก็ต้องรอดูนโยบายด้านพลังงานจากรัฐบาลใหม่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้เจรจาพันธมิตรเข้าร่วมทุนในธุรกิจนี้ก็ตาม ก็ต้องพับแผนไปก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ