ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กวิตกเศรษฐกิจสหรัฐ ฉุดดาวโจนส์ปิดร่วง 265.87 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 3, 2011 06:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ (2 ส.ค.) แม้วุฒิสภาสหรัฐผ่านร่างกฎหมายปรับเพิ่มเพดานหนี้แล้วก็ตาม โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลง 265.87 จุด หรือ 2.19% ปิดที่ 11,866.62 จุด ดัชนี S&P 500 ลดลง 32.89 จุด หรือ 2.56% ปิดที่ 1,254.05 จุด และดัชนี Nasdaq ดิ่งลง 75.37 จุด หรือ 2.75% ปิดที่ 2,669.24 จุด

ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 5.3 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 4 ต่อ 1

ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงอย่างหนักเนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากทางการสหรัฐเปิดเผยข้อมูลที่อ่อนแอหลายวันติดต่อกัน โดยล่าสุดเมื่อคืนนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการใช้จ่ายด้านการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ปรับตัวลดลง 0.2% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ขณะที่รายได้ส่วนบุคคลขยับขึ้นเพียง 0.1% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่แล้ว และเป็นหลักฐานครั้งใหม่ที่บ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเป็นไปอย่างเชื่องช้า

การหดตัวลงของตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคได้สร้างแรงกดดันอย่างมากต่อตลาด เนื่องจากตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐ ขณะที่ตลาดได้รับปัจจัยลบอยู่ก่อนแล้วจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ รวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 2 ของสหรัฐที่ขยายตัวเพียง 1.3% ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 1.8% เนื่องจากการบริโภคส่วนบุคคลชะลอตัวลง

นอกจากนี้ ดัชนีภาคการผลิตเดือนก.ค.ของสหรัฐขยายตัวเพียง 50.9 จุด ซึ่งชะลอตัวลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.ที่ขยายตัว 55.3 จุด และลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ 54.9 จุด สะท้อนให้เห็นว่าภาคการผลิตที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจสหรัฐ กำลังชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญและอาจจะฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ขยายตัวช้าลงด้วย

ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงแม้มีข่าวในด้านบวกที่ว่า สภาสหรัฐมีมติผ่านร่างกฎหมายการปรับเพิ่มเพดานหนี้ด้วยคะแนนเสียง 74 ต่อ 26 เมื่อเวลาประมาณ 23.30 น.ตามเวลาไทยเมื่อวานนี้ และประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ลงนามรับรองร่างกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายที่จะลดยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลางลงกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 10 ปี และปรับเพิ่มเพดานการกู้ยืมของรัฐบาลไปจนถึงปี 2556

หลังนั้นไม่นาน ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ออกแถลงการณ์ว่า การที่สหรัฐสามารถตกลงกันได้ในเรื่องการปรับเพิ่มเพดานหนี้นั้น ช่วยให้ความเสี่ยงที่สหรัฐจะผิดนัดชำระหนี้น้อยลงด้วย และฟิทช์ยืนยันว่าจะคงอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐไว้ที่ AAA

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงกังวลว่า ปัญหาหนี้ที่สหรัฐกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ทำให้มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าสหรัฐจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในวันข้างหน้า

โจวชัว เทรดเดอร์ที่มีประสบการณ์ด้านการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กกล่าวกับสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า "หากพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ก็จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินอย่างมาก และจะส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์ทางการเงินของสหรัฐอย่างมากด้วย"

ขณะที่นักวิเคราะห์จากเอ็มเอฟ โกลบอลกล่าวว่า ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเต็มไปด้วยความตื่นตระหนกและตึงเครียด อันเนื่องมาจากข้อมูลที่บ่งชี้ถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐ แม้ร่างกฎหมายปรับเพิ่มเพดานหนี้ผ่านความเห็นชอบจากทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรแล้วก็ตาม

หุ้นบลูชิพทุกตัวที่คำนวณในดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลงทั้งหมด โดยหุ้นเจนเนอรัล อิเล็กทริก หุ้นไฟเซอร์ อิงค์ และหุ้นโฮม ดีโปท์ ดิ่งลงกว่า 4%

นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยวันพุธ ADP Employer Services จะเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานทั่วประเทศเดือนก.ค., สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยดัชนีภาคบริการและดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจเดือนก.ค. และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยยอดสั่งซื้อของโรงงานเดือนมิ.ย.

ส่วนวันพฤหัสบดี กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และวันศุกร์ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ