ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ (BBL) สนับสนุนสินเชื่อแก่บริษัท โซลาร์ต้า จำกัด ใช้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็ก วงเงินกู้ 3,300 ล้านบาท บนพื้นที่ภาคกลางของประเทศใกล้จุดศูนย์กลางการขนส่ง จำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ภายในสิ้นปีนี้
นายปรีดี ดาวฉาย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส KBANK เปิดเผยว่า KBANK และ BBL ร่วมให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ บริษัท โซลาร์ต้า จำกัด ธนาคารละ 1,650 ล้านบาท รวมวงเงินสินเชื่อทั้งสิ้น 3,300 ล้านบาท เพราะปัจจุบันพลังงานทางเลือกที่เป็นแหล่งพลังงานยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก รวมทั้งภาคเอกชนของไทยก็ให้ความสำคัญและเล็งเห็นประโยชน์ในการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในเชิงธุรกิจ โดยเฉพาะการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ได้รับความสนใจจากอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ด้านนายแพทย์สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยันฮี โซล่า เพาเวอร์ จำกัด และโรงพยาบาลยันฮี กล่าวว่า โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 8 โครงการ มีขนาดกำลังผลิตรวม 34.25 เมกะวัตต์ โดยมีบริษัท โซลาร์ต้า จำกัด เป็นผู้พัฒนาและดำเนินโครงการ ตั้งอยู่ใน จ.อยุธยา สุพรรณบุรี และ นครปฐม
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทกับ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ด้วยเงินลงทุนกว่า 4,400 ล้านบาท ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไทรเสนา ขนาด 3 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดอยุธยาได้เดินเครื่องผลิตและขายไฟฟ้าให้ กฟภ. แล้วเมื่อเม.ย.54 ที่ผ่านมา ส่วนอีก 7 โครงการที่เหลือคาดว่าจะสามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้ภายในปีนี้
นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เป็นโครงการพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2,000 ตันต่อปี แต่ยังช่วยลดการใช้พลังงานฟอสซิลและลดการนำเข้าน้ำมันเตาเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าได้ถึง 7,400 บาร์เรลต่อปี
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้กำหนดให้พลังงานทดแทนเป็นธุรกิจหลัก มีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้ได้ถึง 100 เมกะวัตต์ ในปี 2559 ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ และยังเป็นการกระจายแหล่งผลิตไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาวให้แก่ประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ บริษัท โซลาร์ต้า จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนที่มีผู้ถือหุ้นที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจผลิตไฟฟ้าและมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง จึงมั่นใจได้ว่าโครงการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จ โดยโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 8 โครงการดังกล่าวมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมากที่ใช้พลังงานทดแทนกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และได้รับเงินสนับสนุน (Adder) จากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า จำนวน 8 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงเป็นเวลา 10 ปี