บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์(TTA) คาดว่าผลประกอบการในงวดไตรมาส 3/54 ดีขึ้นจากงวดไตรมาส 2/54 เนื่องจากธุรกิจเรือขุดเจาะของ บมจ.เมอร์เมด มาริไทม์ (เมอร์เมด)ปรับตัวดีขึ้นจากที่ขาดทุนมากในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนีค่าระวางเรือ(BDI)ในระยะนี้ยังทรงตัวอยู่ที่ 1,400-1,500 จุดไปจนถึงปี 56 เพราะยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวขึ้น
ส่วนการนำบริษัท เอเชีย ออฟชอร์ ดริลลิงค์ จำกัด (AOD) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของเมอร์เมดฯ กับ Seadrill ในธุรกิจการสร้างและให้บริการเรือขุดเจาะแบบ Jack-up Rigs ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวสูง เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นออสโล ประเทศนอร์เวย์นั้น น่าจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างมีนัยสำคัญในปี 56
พร้อมกันนั้น บริษัทยังยืนยันที่จะเดินหน้าลงทุนธุรกิจพลังงาน หลังจากเข้าซื้อกิจการเหมืองและจัดจำหน่ายถ่านหิน โดยคาดว่าภายในปี 56 สัดส่วนรายได้จากธุกิจพลังงานจะสูงขึ้นเป็นกว่า 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 30-35% ซึ่งจะเน้นขยายงานธุรกิจที่มีอยู่ในมือ และยังไม่มีแผนซื้อธุรกิจใหม่เข้ามาเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม สำหรับกิจการของ บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส (UMS)ที่บริษัทเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นั้นในปีนี้รายได้คงจะพลาดเป้าหมายที่ตั้งไว้ และกำไรคงจะต่ำกว่าปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปิดดำเนินการโรงงานและคลังถ่านหินชั่วคราวตามคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร หลังจากมีชาวบ้านในพื้นที่ออกมาประท้วงกิจการถ่านหินบางแห่งที่มีมาตรฐานป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ ซึ่งหากมองแล้วว่าเหตุการณ์อาจจะยืดเยื้อไปถึง 3-6 เดือน UMS ก็คงจะต้องย้ายโรงงานและคลังดังกล่าวไปที่จ.อยุธยา
ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ TTA กล่าวว่า ทิศทางผลประกอบการของบริษัทในงวดไตรมาส 3/54 ที่ดีขึ้นทั้งรายได้และกำไรสุทธิ จากไตรมาส 2/54 เนื่องจากคาดว่าเมอร์เมดฯ จะมีผลประกอบการพลิกเป็นกำไรได้เล็กน้อย หลังจากมีผลขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 53 และครึ่งแรกปี 54
ทั้งนี้ ธุรกิจให้บริการขุดเจาะของเมอร์เมดได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น มาอยู่ที่ 90 ดอลลาร์/บาร์เรล ทำให้งานวิศวกรรมใต้น้ำและเรือขุดเจาะมีความต้องการมากขึ้น ขณะนี้ทั่วโลกมีงานประมูลขุดเจาะสำรวจน้ำมัน โดยเรือ Jack-up Rigs ประมาณ 40 งาน และการที่เมอร์เมดมีเรือขุดเจาะใหม่ และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า ทำให้เป็นที่ได้เปรียบรายอื่นที่มีกองเรืออายุมาก และใช้เทคโนโลยีเก่า คาดว่าผลประกอบการของเมอร์เมดยังจะดีต่อเนื่องในไตรมาส 4/54
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของธุรกิจเดินเรือยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นกว่านี้ โดยคาดว่าอัตราค่าระวางเรือยังคงทรงตัวที่ 1,400-1,500 จุดต่อไปจนถึงปี 56 แม้จะมีความต้องการใช้เรือเพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันจำนวนกองเรือยังล้นตลาดอยุ่
ทั้งนี้ ยอมรับว่าผลประกอบการของบริษัทในปีนี้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากธุรกิจชิปปิ้งที่อัตราค่าระวางเรือยังคงทรงตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ธุรกิจของบริษัทเมอร์เมดยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้
สำหรับ AOD ที่ประสบความสำเร็จในการขายหุ้นให้แก่ PP และมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งคือSeadrill ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเรือขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอันดับ 2-3 ของโลก และทำให้แผนการเพิ่มทุนรอบ 2 ของ AOD จำนวน 80 ล้านเหรียญสหรับประสบความสำเร็จ และมีเงินที่จะดำเนินการซื้อเรือขุดเจาะ จำนวน 4 ลำตามแผน โดยไม่ต้องมีการเพิ่มทุนอีก ซึ่งเรือลำแรกจะส่งมอบในเดือน ธ.ค.55 และลำที่ 2-4 ทยอยส่งมอบต่อในปี 56
ม.ล.จันทรจุฑา ประเมินว่า AOD จะสร้างรายได้ให้ TTA ได้อย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 56 เป็นต้นไป ซึ่งในเบื้องต้นเรือ Jack-up Rigs มีค่าเช่าอยู่ที่ 130,000 ดอลลาร์/ลำ/วัน หรือ 48 ล้านดอลลาร์/ลำ/ปี หากคิดอัตรากำไร(profit margin) ที่ 15% AOD จะมีกำไรอยู่ที่ 7 ล้านดอลลาร์/ลำ/ปี เรือขุดเจาะ 3 ลำ คิดเป็นกำไร 21 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งเมอร์เมดถือหุ้นใน AOD 30% และ TTA เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในเมอร์เมด
นอกจากนี้ บริษัทได้ตั้งเป้าหมายในปี 56 สัดส่วนรายได้จากกลุ่มธุรกิจพลังงานจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 50% เนื่องจากมีเหมืองถ่านหินที่เพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันรายได้มาจาก 3 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มธุรกิจขนส่ง กลุ่มธรกิจพลังงาน และกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ในสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ 30-35%
ม.ล.จันทรจุฑา กล่าวถึงเหตุการณ์ประท้วงกิจการถ่านหินในจ.สมุทรสาครว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังหารือเพื่อหาทางออกจากปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งวันนี้คณะกรรมการเบญจภาคีได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงถ่านหินของ UMS หลังจากทยอยตรวจสอบโรงถ่านหินทุกแห่งและจะมีการจัดทำแผนลดจำนวนผลิตถ่านหินเพื่อเสนอต่อผู้ว่าราชการจ.สมุทรสาครในวันที่ 5 ส.ค. 54 แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีการตัดสินใจในเรื่องนี้รวดเร็วแค่ไหน เนื่องจากเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและต้องรับฟังนโยบายใหม่
สำหรับโรงถ่านหินที่สวนส้ม จ.สมุทรสาคร ยังมีสต็อคถ่านหินคงค้างอยู่ประมาณ 3 แสนตัน ซึ่งคำสั่งหยุดการดำเนินการยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อการผลิตถ่านหินเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าที่ต้องล่าช้าลง ซึ่ง UMS จะได้มีการเจรจาของขยายเวลาการส่งมอบถ่านหินให้กับลูกค้า ขณะเดียวกันบริษัทได้มีการโยกย้ายพนักงานในส่วนนี้ไปเสริมที่โรงงาน จ.อยุธยา ไปพลางก่อน
"ยอมรับว่ากระทบเป้ารายได้ของ UMS แต่ยังประเมินไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าผู้ว่า ฯจะใช้เวลาพิจารณาแผนนานแค่ไหน...ยืนยันว่าโรงถ่านหินของ UMS ได้มาตรฐานเป็นะรบบปิดทั้งหมด ตั้งแต่ท่าเรือ การเดินสายพานและโรงงาน แต่ถือว่าเป็นเรื่องโชคร้ายมากที่คนไม่แคร์สิ่งแวดล้อมมาทำให้เราติดร่างแหไปด้วย" ม.ล.จันทรจุฑา กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทได้มีการเตรียมแผนสำรองหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อโดยไม่รู้กำหนดในการหาข้อยุติ อาจมีการย้ายกิจการทั้งหมดมาไว้ที่โรงงาน จ.อยุธยา ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่เพียงพอรองรับการเพิ่มสายการผลิตอีก 1-2 สายการผลิต หากเหตุการณ์ยืดเยื้อนาน 3-6 เดือน อาจเข้าเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขออนุญาตย้ายเครื่องจักรออกมาจากพื้นที่
ม.ล.จันทรจุฑา กล่าวอีกว่าบริษัทเตรียมประกาศผลประกอบการในไตรมาส 3/54 ในวันที่ 15 ส.ค.54 และจัดวันพบผู้ลงทุนในวันที่ 25 ส.ค.54 โดยบริษัทพร้อมตอบทุกคำถามต่อผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้น