โบรกเกอร์ ต่างแนะนำ"ซื้อ"หุ้นบมจ.ทุนธนชาต(TCAP)เนื่องจากผู้บริหารได้ฉายภาพธุรกิจชัดเจนยิ่งขึ้นหลังการควบรวมกิจการธนาคารธนชาตและธนาคารนครหลวงไทย เงินกองทุนสินทรัพย์เสี่ยงยังแข็งแกร่งและไม่ต้องเพิ่มทุนอย่างที่กังวลก่อนหน้านี้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการควบรวมกิจการจะลดลงในครึ่งปีหลัง มาเป็น 50% จาก 56% ในครึ่งแรกของปี
ขณะที่ราคาหุ้นในปัจจุบันถูกด้วย PE 7 เท่า ยิ่งทำให้น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม บางโบรกเกอร์ได้ปรับประมาณกำไรปีนี้ลงเล็กน้อย เพราะเห็นว่าค่าใช้จ่ายการควบรวมกิจการยังเป็นตัวถ่วง แต่บางโบรกเกอร์ได้ปรับขึ้นประมาณการกำไร และปรับขึ้นมูลค่าพื้นฐาน
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท) บล.เอเซียพลัส ซื้อ 46.60 บล.ฟาร์อีสท์ ซื้อ 42.00 บล.เกียรตินาคิน ซื้อ 40.50 บล.ฟิลลิป ซื้อ 38.70 บล.กิมเอ็ง ซื้อ 38.00 บล.กสิกรไทย ซื้อ 38.00 บล.กรุงศรีฯ ซื้อ 37.00
นายธนัท รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรีอยุธยา ปรับคำแนะนำจาก"ถือ"เป็น"ซื้อ"เพราะเห็นว่าค่าใช้จ่ายในการควบรวมกิจการระหว่างธ.ธนชาตและธ.นครหลวงไทย จะลดลง ประกอบกับราคาหุ้นปัจจุบันกลับมาน่าสนใจซึ่งมีราคาต่ำสุดในกลุ่ม
ทั้งนี้ จากการพบผู้บริหาร TCAP เมื่อเร็วๆ นี้ได้ให้ความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องเงินกองทุน แนวโน้มธุรกิจในครึ่งปีหลัง และปี 55 โดยตั้งเป้าหมายใน 3 ปีข้างหน้า(ปี 54-56) สินเชื่อตจะเติบโตปีละ 7-10% โดยคาดว่าปี 54 โต 7.8% จากปีก่อน หลังจากครึ่งปีแรกโต 3.9% และคาดว่าครึ่งปีหลังยังเติบโตต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ตั้งเป้า ROE ที่ 10-15% และ ตั้งเป้าหมายระยะยาวลด Cost to income ratio ที่ 50% ในระยะเวลา 3 ปี จาก 56.4% ในครึ่งแรกปี 54
ตัวที่จะมีผลดีขึ้น คือ cost to income ratio โดยมีเป้าหมาย 3 ปีข้างหน้าจะลดลง จาก 56% ในปัจจุบันเหลือ 50% อนาคตค่าใช้จ่ายจะไม่เพิ่มขึ้นสูงมากแล้ว แต่รายได้จะพุ่งขึ้นแรงกว่า เพราะฉะนั้น ratio นี้จะปรับลดลง ก็จะเป็นผลดีต่อแนวโน้มกำไร และเรื่องเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ทางธนชาต ก็ยืนยันไม่ต้องเพิ่มทุน เพราะก่อนหน้านี้คนกลัวว่าธนชาต ต้องเพิ่มทุน ครั้งนี้ออกมาพูดชัดเจนว่าไม่ต้องเพิ่มทุน ใน 3-5 ปี เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นข้อมูลที่ชัดเจนและมีผลในเชิงบวก"
อย่างไรก็ตาม ปรับประมาณการกำไรสุทธิในปี 54-55 ลดลงจากเดิม โดยปี 54 ปรับลงมาที่ 5,370 ล้านบาท จาก 5,500 ล้านบาท และปี 55 ปรับมาที่ 5,900 ล้านบาท จาก 6,100 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับปรุงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการควบรวมกิจการเพิ่มสูงขึ้น และปรับมูลค่าพื้นฐานลงจาก 38.75 บาท เป็น 37 บาท
"เราจะปรับประมาณการลง แต่ outlook ชัดเจน ว่าปีนี้กำไรจะลงสักประมาณ 5% แต่ปีหน้ากำไรจะโตประมาณ 10% เพราะฉะนั้นถือว่าระยะต่อไป คงเริ่มดีขึ้น ก็เลยคิดว่าระยะยาวน่าซื้อแล้ว เพราะราคาหุ้นก็ลงมาพอประมาณ" นายธนัท กล่าว
ด้านนางสิริณัฏฐา เตชะศิริวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย มองว่า หุ้น TCAP ราคาถูก และแนวโน้มครึ่งปีหลังค่าใช้จ่ายจากการควบรวมกิจการจะลดลงจากครึ่งปีแรก โดยในเดือนต.ค.จะควบรวมกิจการกับ ธ.นครหลวงไทย ขณะที่พยายามเพิ่มรายได้
ผุ้บริหารตั้งเป้าควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้เกิน 56% ในครึ่งปีแรก และจะลดลงด้วย รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆมองว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงการตั้งสำรองด้วย จากก่อนหน้านี้ มองว่า TCAP จะมีค่าใข้จ่ายมากซึ่งจะเป็นตัวดึงกำไร
"ตรงนี้จะเป็นปัจจัยบวกที่เดิมนักวิเคราะห์ ที่มองว่า ค่าใข้จ่ายจะสูง ปีนี้เหมือนเป็นปีสร้างฐาน ถ้าเขาทำได้ดี ก็จะเป็นตัวอัพไซด์ขึ้นมา เพราะว่า ณ ราคาปัจจุบันนี้ PE อยู่ที่ประมาณ 7 เท่า P/BV แค่ 1 เท่า และหากปันผลจ่าย เท่ากับปีที่แล้ว didvidend yield จะสูงถึง 4% ถึงแม้ถ้าไม่โต แต่ด้วย PE ต่ำ ตอนนี้ แต่ถ้าเขาทำได้ ตามเป้าที่เขามองว่าเขาจะขยาย รายได้ ตรงนี้ก็เป็นอัพไซด์ คือ ณ ราคานี้ค่อนข้างถูก ถ้ามองในแง่ Value ก็น่าสนใจ"นางสิริณัฏฐา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ประมาณการกำไรสุทธิ ปี 54 แบบอนุรักษ์นิยมว่าจะมีกำไรสุทธิ 5,270 ล้านบาท ลดลง 7% จากปีก่อน
บทวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุว่า การขยายธุรกิจคาดไม่ส่งผลให้ต้องเพิ่มทุน โดย ณ สิ้นมิ.ย.54 ธ.ธนชาต(TBANK)มี CAR อยู่ที่ 14% หลังปรับปรุงรายการ Goodwill และรวมงบช่วงครึ่งปรกปี 54 แล้ว ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า TBANK ได้ตั้งเป้ารักษา CAR ที่ 13-15% โดยผู้บริหารเชื่อมั่น ว่าฐานทุนจะพอเพียงในการดำเนินธุรกิจโดยไม่ต้องเพิ่มทุน หากจะเพิ่ม Tier-2 หรือสามารถ ทำ Securitization แทนได้
แผน Entire Business Transfer (EBT) ยังเป็นไปตามกำหนด ตามแผนนั้นในวันที่ 1 ต.ค. 2554 สาขา SCIB จะเปลี่ยนเป็น TBANK ทั้งหมด และหลังจากนั้น SCIB จะเข้าสู่กระบวนการ Dissolution และ Liquidation ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี
ทางฝ่ายคาดสินเชื่อทั้งปีอยู่ที่ระดับ 7% ซึ่งเป็นเป้าขั้นต่ำ ขณะที่ NIM อาจอ่อนตัวลงอีกเล็กน้อย จากผลของอัตราดอกเบี้ยตลาดปรับขึ้นต่อ ขณะสินเชื่อยังเน้นที่ HP ซึ่งเป็น Fixed Rate ด้านรายได้ไม่ใช่ดอกเบี้ยคาดโตต่อหากในอัตราไม่สูงนักเนื่องจากยังอยู่ในช่วง EBT ขณะอัตรา Cost/Income คาดปรับสูงขึ้นใน 3Q และ 4Q ส่งผลให้อัตราทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 57.9%
ทั้งนี้ คาดหมายกำไรสุทธิทั้งปีอยู่ที่ 5.20 พันล้านบาท ปรับขึ้นจากเดิมอีก 8.9% กำไรใน 3Q คาดอยู่ในระดับสูงที่ 1.33 พันล้านบาทจากการประหยัดภาษีจากรายการด้อยค่าหลักทรัพย์นครหลวงไทยราว 300 ล้าน บาท (รายการด้อยค่า 900 ล้านบาท) ส่วนราคาพื้นฐานปรับขึ้นจาก 37.40 บาท/หุ้นมาที่ 38.70 บาท/หุ้น อิง P/BV ที่ 1.3 เท่า