ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ MINT ที่ “A" แนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 8, 2011 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ที่ระดับ “A" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงความหลากหลายของธุรกิจ ตลอดจนสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง และคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการขยายตัวของธุรกิจรับจ้างบริหารโรงแรมและธุรกิจอาหารแบบแฟรนไชส์ รวมถึงการขยายกิจการในต่างประเทศทั้งในส่วนของธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหารบริการด่วนด้วย

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะของธุรกิจโรงแรมที่ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ ตลอดจนการแข่งขันที่รุนแรง และอัตรากำไรที่ต่ำของธุรกิจอาหารบริการด่วนและธุรกิจจัดจำหน่าย และนโยบายการเติบโตแบบเชิงรุกของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นโดยเป็นไปในทิศทางเดียวกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรม ในขณะที่การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาระหนี้อาจส่งผลในทางลบต่อคุณภาพเครดิตของบริษัท

ทริสเรทติ้งรายงานว่า MINT ก่อตั้งในปี 2521 โดย Mr. William Ellwood Heinecke และดำเนินธุรกิจโฮลดิ้งโดยการถือหุ้นในบริษัทย่อยที่ดำเนินกิจการธุรกิจหลัก 3 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจอาหารบริการด่วน และธุรกิจจัดจำหน่ายและรับจ้างผลิตสินค้า โดยประมาณ 54.5% ของรายได้ของบริษัทในปี 2553 มาจากธุรกิจอาหารบริการด่วน ส่วนรายได้จากธุรกิจโรงแรมและธุรกิจจัดจำหน่ายคิดเป็น 26.8% และ14.8% ตามลำดับ

ณ เดือนเมษายน 2554 โรงแรมภายใต้การบริหารงานของ MINT ประกอบด้วย โรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของ 15 แห่ง (2,563 ห้อง) โรงแรมภายใต้การร่วมทุน 13 แห่ง (733 ห้อง) และโรงแรมภายใต้การรับจ้างบริหารจัดการ 8 แห่ง (1,167 ห้อง) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย มัลดีฟส์ ศรีลังกา แทนซาเนีย เคนยา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม บริษัทบริหารและดำเนินงานโรงแรมเหล่านี้ภายใต้เครือโรงแรมที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก เช่น Mariott , Four Seasons และ St. Regis และภายใต้เครือโรงแรมของบริษัทเองคือ Anantara, Elewana และ Naladhu

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 บริษัทใช้เงินลงทุนประมาณ 2,700 ล้านบาทเพื่อขยายธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศโดยการซื้อกิจการของ Oaks Hotel & Resorts Ltd. (OAKS) ซึ่งเป็นผู้บริหารโครงการเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์สัญชาติออสเตรเลีย การซื้อกิจการในครั้งนี้จะมีผลทำให้บริษัทมีจำนวนโรงแรมในกลุ่มเพิ่มขึ้นเป็น 72 แห่ง และมีห้องพักถึงประมาณ 8,900 ห้อง ครอบคลุมทวีปเอเซีย อนุทวีปอินเดีย ตะวันออกกลาง และทวีปออสเตรเลีย

สำหรับธุรกิจอาหารบริการด่วนนั้น MINT มีบริษัทในเครือคือ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) (MFG) ซึ่งก่อตั้งในปี 2523 เป็นผู้ดำเนินกิจการธุรกิจอาหารบริการด่วนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ MFG เป็นเจ้าของและผู้ประกอบการอาหารบริการด่วนแบบแฟรนไชส์ของต่างประเทศจำนวน 4 แบรนด์ ได้แก่“สเวนเซ่นส์" “ซิซซ์เล่อร์" “แดรี่ ควีน" และ “เบอร์เกอร์ คิง" รวมทั้งยังบริหาร “เดอะ พิซซ่า คอมปะนี" “เดอะค็อฟฟีคลับ" และ “ไทยเอ็กเพรส" ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าของบริษัทเองด้วย

ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 MFG มีร้านอาหารเปิดให้บริการรวม 686 แห่ง ตลอดจนร้านแฟรนไชส์และแฟรนไชส์ย่อยอีกประมาณ 471 แห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในช่วงกลางปี 2552 บริษัทได้ปรับโครงสร้างธุรกิจและรวมกิจการของ บริษัท ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (MINOR) ซึ่งประกอบด้วย แฟชั่น เครื่องสำอาง และโรงงานรับจ้างผลิตสินค้าเข้ามาอยู่ภายใต้เครือของบริษัท โดยมีแบรนด์สินค้าที่สำคัญ อาทิ Gap, Esprit, Bossini, Red Earth, Bloom, Charles & Keith และ Tumi

ในปี 2553 บริษัทมีรายได้ (ไม่รวมเงินปันผลและรายได้อื่น ๆ) ทั้งสิ้น 18,140 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน อัตรากำไรจากการดำเนินงานลดลงมาอยู่ที่ 15.01% เปรียบเทียบกับ 18.1% ในปี 2552 โดยผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากผลประกอบการของธุรกิจโรงแรมที่อ่อนแอลงจากวิกฤตการเงินทั่วโลกและความไม่สงบของการเมืองภายในประเทศไม่ว่าจะเป็นการปิดสนามบินในเดือนธันวาคม 2551 และการประท้วงต่าง ๆ ในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 ซึ่งส่งผลทำให้รายได้จากธุรกิจโรงแรมลดลงจากกว่า 6,000 ล้านบาทในปี 2551 เหลือ 4,864 ล้านบาทในปี 2553

อย่างไรก็ตาม รายได้ที่ลดลงจากธุรกิจโรงแรมได้รับการชดเชยด้วยรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจอาหารบริการด่วนซึ่งพึ่งพิงตลาดภายในประเทศและมีความยืดหยุ่นต่อความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจมากกว่า ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงในช่วงปี 2551-2553 ประกอบกับการที่บริษัทมีการลงทุนที่สูงในช่วงเวลาดังกล่าวจากการก่อสร้างโรงแรม 2 แห่ง (St. Regis ที่กรุงเทพฯ และ Anantara Kihavah ที่มัลดีฟส์) ส่งผลให้โครงสร้างการเงินของ บริษัทอ่อนแอลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 9,101 ล้านบาทในปี 2551 มาอยู่ที่ 14,368 ล้านบาทในปี 2553 และ ณ เดือนธันวาคม 2553 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 52.94% เพิ่มขึ้นจาก 51.32% ในเดือนธันวาคม 2552

ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับปีก่อนโดยเป็นรายได้จากการขายคอนโดมิเนียมโครงการ St. Regis Residence และโครงการพักผ่อนแบบปันส่วนเวลาของกลุ่มอนันตรา (Anantara Vacation Club -- AVC) เป็นหลัก อัตรากำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.79% แต่ก็ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 20% ที่เคยทำได้ในอดีต ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายก่อนเปิดดำเนินงานโรงแรม Anantara Kihavah มัลดีฟส์ และ St. Regis กรุงเทพฯ ในเดือนกุมภาพันธ์และเมษายน 2554 รวมถึงค่าใช้จ่ายในการขายและการตลาดของโครงการ St. Regis Residence และ AVC

อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 52.14% ในอนาคตบริษัทยังคงมีนโยบายเติบโตทั้งตามภาวะปกติของธุรกิจและโดยการซื้อกิจการ โดยที่แหล่งเงินทุนที่จะใช้สนับสนุนการเติบโตบางส่วนอาจจะมาจากการกู้ยืม ฉะนั้น ทริสเรทติ้งจึงหวังว่าบริษัทจะรักษาสมดุลระหว่างสัดส่วนการทำกำไรและหนี้สินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

สภาพคล่องของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่รับได้ อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายปรับลดลงมาอยู่ที่ 8.6 เท่าในปี 2552 และ 7.5 เท่าในปี 2553 จาก 11 เท่าในปี 2551 แต่ก็ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 11 เท่าอีกครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 เช่นเดียวกับอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมที่ลดลงระหว่างปี 2552 และปี 2553 และขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7.2% ณ เดือนมีนาคม 2554


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ