KBANK ระบุแบงก์ไทยยังไร้ทิศทางรุกตลาด AEC ต้องอาศัยจับมือแบงก์ท้องถิ่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 8, 2011 19:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) กล่าวว่าในการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในวันนี้ ได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับระบบ payment ของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงยุทธศาสตร์รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) เพื่อวางบทบาทของไทยใน AEC

เบื้องต้นไทยยังไม่สามารถกำหนดทิศทางในการก้าวสู่ AEC ได้ ดังนั้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทย คงยังไม่สามารถก้าวไปสู่ AEC ได้เช่นกัน หากจะดำเนินการเข้าสู่ตลาดอาเซียน ธนาคารพาณิชย์คงต้องอาศัยความร่วมมือในการเป็นพันธมิตรกับธนาคารท้องถิ่น เหมือนที่ KBANK ได้มีความร่วมมือกับธนาคารท้องถิ่นในญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนลูกค้าของประเทศ และสร้างเครือข่าย

"AEC ที่จะเข้ามาเราคงต้องรับสู้ เพราะถ้าจะเข้าไป เรายังไม่มีรูปแบบชัดเจน ตอนนี้มีแบงก์เดียวที่ทำได้คือ ธนาคารกรุงเทพ หรือดีที่สุดคือร่วมกับธนาคารท้องถิ่น ตอนนี้ เราคงต้องเกาะกระแสลูกค้าไทยไปก่อน แต่ยังเห็น่ว่านักลงทุนไทยมีการลงทุนในต่างประเทศน้อยมาก"นายบัณฑูร กล่าว

ในวันนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้เปิดศูนย์ธุรกิจไทยจีน เป็นแห่งแรกของธนาคารไทย เพื่อเป็นศูนย์ธุรกิจไทยจีนที่ครบวงจรในการให้ข้อมูลและคำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจและการลงทุน สำหรับนักลงทุนไทยที่สนใจลงทุนในจีน และนักลงทุนจีนที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทย โดยพบว่าขณะนี้มีนักลงทุนในจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากเป็นที่สองรองจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว สะท้อนถึงความต้องการจีนที่ต้องการขยายอาณาจักร และการเป็นประเทศมหาอำนาจ นอกเหนือจากสหรัฐและยุโรป

เป้าหมายของการเปิดศูนย์ธุรกิจดังกล่าว เพื่อเป็นการ้บมือในการเข้ามาลงทุนของจีน เพื่อทำให้ธนาคารเป็นที่รู้จัก ขณะเดียวกัน นักลงทุนไทยยังไปลงทุนในจีนมีไม่มาก ดังนั้นการสร้างเครือข่ายให้เป็นที่รู้จักเป็นการรุกเพื่อแนะนำลูกค้าให้ไปลงทุนในจีน ขณะเดียวกัน จีนเป็นตลาดการเงินที่ใหญ่ และยังมีช่องว่างในการปล่อยสินเชื่อกับเอสเอ็มอีได้ โดยธนาคารของจีนมักไม่ปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี

ดังนั้น ธนาคารจึงได้หาพันธมิตรจากจีนและขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ในการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีในจีนประเทศเดียว ทั้งนี้มองว่าเป็นโอกาสว่าธนาคารกสิกรไทยจะเป็นที่รู้จักในจีนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สาขาของธนาคารกสิกรไทยในจีน ขณะนี้ยังมีการทำธุรกรรมไม่มาก เพราะยังอยู่ในช่วงการทดลอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ