โบรกเกอร์หนุน "ซื้อ-ซื้อเก็งกำไร" บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร(CPF) คาดไตรมาส 2/54 สร้างกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 4,500-5,000 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของราคาเนื้อสัตว์ที่ปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ขณะที่ไตรมาส 3/54 มองแนวโน้มยังสามารถทำกำได้ดีต่อเนื่อง แต่ไตรมาส 4/54 มีแนวโน้มการทำกำไรที่ชะลอตัว ตามทิศทางราคาเนื้อสัตว์ และธุรกิจสัตว์น้ำที่ชะลอตัว
อย่างไรก็ตามบริษัทยังมีความเสี่ยงหากมีการขยายกำลังการผลิต ซึ่งตามแผนในปีหน้าบริษัทจะขยายกำลังการผลิต 10% ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็กมีการขยายกำลังการผลิตตาม โดยเฉพาะหากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนนุการลงทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งจะส่งผลให้อุปสงค์ในตลาดเพิ่มขึ้น และทำให้ราคาเนื้อสัตว์ปรับลดลง นอกจากนี้ยังแนวโน้มต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น
ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาท ไม่มีผลกระทบต่อบริษัท เนื่องจากต้นทุนค่าแรงคิดเป็น 5% ของต้นทุนขายเท่านั้น ประกอบกับอัตราจ้างของบริษัทอยู่สูงกว่าค่าแรงงานขั้นต่ำอยู่แล้ว
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท) บล.กรุงศรีอยุธยา ซื้อเก็งกำไร 29.00 บล.ยูไนเต็ด ซื้อเก็งกำไร 34.25 บล.ฟิลลิป ซื้อเก็งกำไร 35.00 บล.ทรีนิตี้ ซื้อ 40.00 บล.เอเซียพลัส ซื้อ 46.71 บล.ฟาร์อีสท์ ซื้อ 38.80 บล.ดีบีเอสฯ ซื้อ 39.25
นายสิทธิเดช ประเสริฐรุ่งเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรีอยุธยา คาดไตรมาส 2/54 CPF จะมีกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4,480 ล้านบาท เติบโต 29% จากไตรมาสก่อน และเติบโต 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้รับผลดีจากราคาเนื้อสัตว์ ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ ปรับราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงธุรกิจในต่างประเทศอยู่ในช่วงการเติบโต
ขณะเดียวกันมองว่าในไตรมาส 3/54 CPF มีโอกาสทำกำไรได้ดีต่อเนื่องในระดับใกล้เคียงไตรมาส 2/54 แต่การทำกำไรจะเริ่มชะลอลงในไตรมาส 4/54 หากราคาเนื้อสัตว์ชะลอลงตามฤดูกาล และเป็นช่วงราคาตกต่ำจากธุรกิจสัตว์น้ำ ขณะที่ทั้งปีมองว่า CPF จะมีกำไรสุทธิประมาณ 15,000 ล้านบาท และมีโอกาสสูงเป็น 17,000-18,000 ล้านบาท โดยรอดูการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/54 ก่อนปรับประมาณการอีกครั้ง
“ปีนี้ราคาเนื้อสัตว์ปรับสูงขึ้น แต่ในแง่ภาพรวมเนื้อสัตว์ที่ขายได้ดีในแง่ของราคา แต่ปริมาณไมได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจในต่างประเทศที่ขายอาหารสัตว์ จะมีมาร์จิ้นผันผวนตามฤดูกาล"นายสิทธิเดช กล่าว
อย่างไรก็ตาม มองว่าปีหน้าการทำกำไรของ CPF อาจะชะลอ ซึ่งคาดการณ์ว่าราคาเนื้อสัตว์คงไม่ปรับขึ้นสูงเหมือนปีนี้ ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น แต่ไม่สามารถคาดการณ์ต้นทุนดังกล่าวได้ ขณะที่ธุรกิจสัตว์น้ำ คาดว่าราคาน่าจะทรงตัว
ส่วนปัจจัยเสี่ยงของ CPF คือการขยายปริมาณการผลิตที่กระทบต่อราคาเนื้อสัตว์ โดย CPF มีแผนขยายกำลังการผลิตอีกประมาณ 10% ซึ่งจะมีผลให้ผู้ประกอบการรายกลาง เอสเอ็มอี ขยายกำลังการผลิตตามไปด้วย มีผลต่อ supply ในตลาด แต่คงยังไม่เห็นผลกระทบในระยะสั้น 1-2 ปีนี้
“หากในแง่ของทางการคงไม่สามารถคงไม่สามารถควบคุมราคาเนื้อสัตว์ได้ เพราะหากควบคุมก็จะไม่มีการผลิต สุดท้ายราคาก็แพงเหมือนเดิม แต่ในแง่รัฐบาลใหม่ที่เน้นส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี อาจมีผลต่อการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต จะทำให้ปริมาณผลผลิตในตลาดเพิ่มขึ้น หากเป็นเช่นนี้ CPF อาจมีการชะลอการขยายกำลังการผลิตออกไปได้"นายสิทธิเดช กล่าว
บล.เอเซียพลัส ออกบทวิเคราะห์ว่า ภาพรวมการดำเนินงานในไตรมาส 2/54 ของ CPF ยังคงสดใส โดยคาดกำไรสุทธิที่ 5,060 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 45% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากได้รับผลบวกจากราคาผลิตภัณฑ์สัตว์บก โดยเฉพาะสุกรและสัตว์น้ำ(กุ้ง)ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงธุรกิจต่างประเทศ(ซึ่งส่วนใหญ่เน้นธุรกิจกุ้ง) โดยเฉพาะประเทศอินเดีย และมาเลเซียที่มีผลประกอบการดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้คาดการณ์ยอดขายรวมในไตรมาส 2/54 จะเติบโตถึง 22% จากไตรมาสก่อน ขณะที่แนวโน้ม Gross Margin คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 19.5%
ส่วนงวดไตรมาส 3/54 คาดว่ากำไรสุทธิน่าจะขึ้นไปแตะระดับใกล้เคียง 6,000 ล้านบาท และอ่อนตัวลงมาเหลือ 4,000 ล้านบาทในไตรมาส 4/54 ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี 2554 ที่ฝ่ายวิจัยคาดไว้ และถือเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง ซึ่งเป็นผลจากอานิสงค์ของสถานการณ์วิกฤติอาหารโลกในปัจจุบันที่มีแนวโน้มขาดแคลนเนื่องจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์จะปรับตัวสูงขึ้น
การปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะกดดันต่อ Gross margin โดยรวมของ CPF ในปี 2555 มากนัก เนื่องจากค่าแรงงานคิดเป็นสัดส่วนเพียง 5% ของต้นทุนขายรวม ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ได้ให้อัตราค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ CPF เปิดเผยถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายแรงงานปี 2555 ที่เพิ่มขึ้นในระดับ 1 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ที่ประเมินไว้ว่าจะลดลงในระดับใกล้เคียงกัน (ภาษีเงินได้นิติบุคคลจะลดลงจาก 30% เหลือ 23%) จึงแทบไม่เห็นผลกระทบแต่อย่างใด
ฝ่ายวิจัยยังคงคำแนะนำซื้อ ในฐานะที่เป็นหุ้น Global Play ที่ยังมี PER ปี 2554 ต่ำเพียง 11.4 เท่า โดยกำหนด Fair value ปี 2554 เท่ากับ 46.71 บาท อิง PER 17 เท่า เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของหุ้นกลุ่มเกษตร-อาหารโลก ที่มีการ re-rate ทั้ง PER และ PBV ให้สูงขึ้น จากผลบวกของทิศทางราคาอาหารโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น (ค่า PER เฉลี่ยของกลุ่มอาหารในภูมิภาคอยู่ที่ระดับสูงถึง 19 เท่า) โดยราคาหุ้นปัจจุบันยังมี Upside ถึง 49% และคาดการณ์ Div. Yield ปี 2554 ที่ระดับ 4.4% (จ่ายปีละ 2 ครั้ง)