"ก้องเกียรติ"มองหุ้นไทยอาจปรับฐานครั้งใหญ่หากสหรัฐวิกฤติหนัก-แนะธปท.ทบทวนขึ้นดบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 9, 2011 14:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บล.เอเซียพลัส(ASP)เปิดเผยกับ"อินโฟควสท์"ว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทย(SET)มีโอกาสปรับฐานครั้งใหญ่อีกครั้ง หากปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐเกิดวิกฤติรอบใหม่ที่มีความรุนแรงมาก อาจเป็นปัจจัยหลักที่กดดันดัชนี SET ให้ลงไปต่ำกว่า 1,000 จุดได้ แต่เชื่อว่าในที่สุดดัชนีจะยืนเหนือ 1,000 จุดได้จากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจเอเชีย

*ปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐย่ำแย่แค่ไหน

"ผมว่าอเมริกาอยู่ในฐานะที่น่าเป็นห่วง แต่ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องที่ตลาดไม่รู้ เป็นเรื่องหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะบริโภคมากกว่าการออม อันนี้ก็คือปัญหา ทุกคนก็ทราบว่าดอลลาร์ฯก็คงจะต้องถดถอย อันนี้ก็คือวิกฤตดอลลาร์ฯ เพียงแต่ว่ามี S&P มาตอกย้ำว่าเอาล่ะลดเรทติ้งนะ อันนี้เป็นการตอกย้ำเท่านั้นเอง

ปัญหาก็คือโลกนี้ตอนนี้ไม่มีสกุลเงินอื่นที่เป็นสำรองได้ที่มีขนาดใหญ่พอ เพราะทุกคนมีปัญหาทั้งนั้น ไม่ว่าจะยูโร เยน ยังไม่มีหยวน ก็เลยวิ่งมาหาทอง เพราะฉะนั้นถ้าดูแล้วจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจอเมริกาไม่ได้อยู่ในสภาวะที่พร้อมจะฟื้นตัว การเพิ่มเพดานหนี้ก็คือเอาหนี้ใหม่ไปใช้หนี้เก่า ยังไม่มีการปรับโครงสร้าง ถ้าเป็นเอกชนอย่างน้อยก็ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ ค่าใช้จ่ายน้อยลง ลดค่าใช้จ่าย อะไรก็ว่าไป แต่ทางอเมริกาไม่ได้ทำขนาดนั้น ก็อาศัยอัตราดอกเบี้ยต่ำ ภาระรัฐบาลน้อยหน่อย ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง

การที่ค่าเงินอ่อน ใครก็ตามที่ถือเงินดอลลาร์ฯอยู่ ถือพันธบัตรรัฐบาลอเมริกาอยู่ก็เสียหาย เหนื่อยนะ ขณะเดียวกันหลายประเทศในเอเชียที่เพิ่งส่งออกไปอเมริกาก็ถูกกระทบมากน้อยก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นพวกวงจรอิเล็คทรอกนิกส์ อะไรพวกนี้อาจจะทำให้กำลังซื้อที่นั่นถดถอยไปบ้าง"

*สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะกระทบตลาดบ้านเรามากแค่ไหน

"ผลที่เกิดขึ้นนี้คงจะต้องรับผลกระทบไปทั้งโลก เป็นรับผลว่าในเมื่อทุกคนมองว่าหุ้นมีความเสี่ยง สูงเกินไป ณ ระดับราคาที่เห็นอยู่ในช่วงอาทิตย์ที่แล้วก่อนที่ S&P จะ down grade นะครับ มีคนมาตัดสินตอกฝาโลงแล้ว ทุกคนก็พร้อมที่จะขายหนีตาย ปรากฏการณ์ก็เลยเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน"

ผมคิดว่าจะต้องให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ผ่านไปก่อน ผมเชื่อว่าตลาดบ้านเราน่าจะยืนอยู่เหนือระดับ 1,000 จุด ได้ แต่ว่าสถานการณ์ผันผวนรุนแรงลักษณะนี้อาจะทำให้เราลงไปต่ำกว่าระดับ 1,000 จุดได้ แล้วก็เวียนขึ้นมาทีหลังก็ได้ อันนี้ก็เป็นการปรับฐานครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ซึ่งเราไม่ได้เห็นการปรับฐานครั้งใหญ่นี้มาพักใหญ่แล้ว ในปี 2008 ก็มีการปรับฐานประมาณ 6 เดือน แต่ครั้งนี้อาจจะน้อยลงก็ได้ เพราะในเอเชียแข็งแกร่งต้องยอมรับ"

*เม็ดเงินยังไหลเข้าเอเชียอยู่หรือไม่

"เชื่อว่าเม็ดเงินยังไหลเข้าเอเชียอยุ่แล้ว เพราะให้ผลตอบแทนที่ยังดีกว่าอเมริกาและยุโรป ผมว่าจริง ๆ แบงก์ชาติน่าจะทบทวนเรื่องนโยบายดอกเบี้ยซะด้วยซ้ำ จริง ๆ ก็มีผู้ใหญ่เตือนกันหลายคนนะ แต่ว่าแบงก์ชาติยังไม่ทำ ซึ่งก็ทบทวนว่าอย่าขึ้นดอกเบี้ย ถึงเวลาที่จะอยู่หรือลงแล้ว เพราะอเมริกาใช้วิธีนี้ช่วยเสริมการส่งออก

ของเราพอดอกเบี้ยสูง เห็นไหมว่าเงินที่ไหลเข้ามามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย 2 ปีรวมกันประมาณ 1 ล้านล้านเข้าไปแล้ว เยอะมาก เราต้องการเงินประเภทหรือเปล่า ปีนี้ก็ 6 แสนกว่า ปีที่แล้วก็ 3 แสนกว่า รวมกันก็ 1 ล้านล้านเข้าไปแล้ว ยิ่งดอกเบี้ยยิ่งสูง พวกนี้ก็ยิ่ง happy มากันใหญ่

แล้วแบงก์ชาติผมว่าจะจำกัดเงินเฟ้อ...ปัญหาเงินเฟ้อมันจะค่อย ๆ ถดถอยไป เพราะกำลังซื้อมันถดถอยไป และราคาน้ำมันตลาดโลกก็ลงมาเรียบร้อยแล้ว ลดลงมา 35% ในช่วงสั้น ๆ ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ร่วงมาเยอะมาก เพราะฉะนั้นความวิตกกังวลเรื่องน้ำมันแพงก็หายไปเยอะเลย เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาน้ำมันโลกก็ร่วงลงมา ผมว่าต้องระวังเราขึ้นดอกเบี้ยไปสูง ๆ เป็นการเปิดประตูบ้านให้เงินทุนต่างประเทศมาซื้อพันธบัตรเยอะ ๆ เมื่อเทียบกับหุ้น

หุ้นผมว่า 2 ปีย้อนหลังก็แค่ 1 แสนล้านบาทที่ซื้อหุ้น แต่พันธบัตรมันมากกว่า 10 เท่า คือ 1 ล้านล้านบาท หุ้นปีที่แล้ว(2553) 81,000 ปีนี้(2554)ผมคิดว่าลงวันนี้อาจจะเหลือแค่ 1 หมื่นล้านอย่างมาก รวมกันแสนล้าน 2 ปีที่ผ่านมา พันธบัตรรัฐบาลไทย 2 ปีที่ผ่านมานี้ต่างประเทศมาซื้อ 1 ล้านล้านบาท มากกว่าหุ้น 10 เท่า เขาเข้ามาซื้อเพราะอัตราดอกเบี้ยเราดี แล้วยังได้กำไรค่าเงินอีก ได้ 2 เด้ง"

*มุมมองอัตราดอกเบี้ยบ้านเราเป็นอย่างไร

"ผมว่าดอกเบี้ยบ้านเราคงจะลงหน่อย อย่างน้อยเงินไหลเข้าพันธบัตรจะลดลง จริง ๆ เงินลงทุนในพันธบัตรก็เป็นเงินสั้น เงินลงทุนหุ้นก็สั้น มันก็เหมือนกันนะ เพราะพันธบัตรรัฐบาลก็มี 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี ก็สั้นนะ พวกนี้ก็ขายวันไหนก็ได้ มีสภาพคล่องเหมือนหุ้น จะขายวันนี้เหมือนหุ้นก็ได้ พันธบัตรรัฐบาลมีคนเล่นทุกวัน สถาบันซื้อขายกันอยู่ทุกวัน กองทุนซื้อขายกันอยู่ทุกวัน

อีกอย่างเงินเฟ้อในบ้านเรา ต้องทราบก่อนว่ามันแพงขึ้นมามันเกิดจากอะไร มันเกิดจาก Cost push หรือ Demand pull มันไม่ได้เกิดจาก Demand ที่สูงขึ้น แต่เกิดจากต้นทุนที่น้ำมันแพง แอนนี้น้ำมันถอยลงมาเยอะมาก...เงินบาทจะได้อ่อนตัวลงมากกว่านี้นิดหนึ่งช่วยส่งออก มันก็ต้องมอนิเตอร์ไป ถูกไหม...เงินบาทอ่อนลงนิดหน่อย ส่งออกกระเตื้องขึ้นด้วย ได้เห็นเงินบาท 30 ตอนนี้มัน 29 กว่า อะไรอย่างนี้... ผมไม่รู้ตอนนี้เราเดินหลงทางหรือเปล่า"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ