นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า บริษัทปรับวงเงินลงทุนในช่วง 5 ปี (ปี 54-58)เพิ่มขึ้นเป็น 750 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิมตั้งไว้ 644 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยงบลงทุนส่วนที่เพิ่มจะเน้นการลงทุนในอินโดนีเซีย ส่วนงบลงทุนในออสเตรเลียเท่าเดิมจำนวน 589 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ
เนื่องจากบริษัทขยายกำลังการผลิตของแหล่งถ่านหินในอินโดนีเซีย ได้แก่ เหมืองอินโดมิงโก และเหมืองทรูบาอินโด ส่งผลให้แผนการผลิตเหมืองถ่านหินในสิ้นแผน 5 ปี หรือในปี 58 มีกำลังการผลิตทั้งหมดรวม 54 ล้านตัน จากปีนี้ที่มีกำลังการผลิตรวม 42 ล้านตัน โดยปริมาณการผลิตในอินโดนีเซียเพิ่มเป็น 30 ล้านตัน จากปี 54 ที่มีการผลิต 25 ล้านตัน ซึ่งก่อนหน้านี้อินโดนีเซียมีฝนตกหนักทำให้คาดว่าจะผลิตไม่ได้ตามเป้าหมาย
"ต้นปีหน้าเราจะมีปริมาณสำรองมาเพิ่มในอินโดนีเซีย เราจะเปลี่ยน Resource เป็น Reserve โดยเปลี่ยนวิธีการผลิต ใช้สายพานในการขนถ่าย"นายชนินท์ กล่าว
ณ สิ้น มิ.ย.54 บริษัทมีปริมาณสำรองถ่านหินรวม 902 ล้านตัน แบ่งเป็นในอินโดนีเซียประมาณ 323 ล้านตัน ออสเตรเลียประมาณ 360 ล้านตัน และจีน 216 ล้านตัน
ทั้งนี้ แหล่งเงินทุนมาจากกระแสเงินสด ที่คาดว่าจะมาจากกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ระดับ 1-2 พันล้านเหรียญใน 3-4 ปีข้างหน้า
นายชนินท์ คาดว่า รายได้ปี 54 มีโอกาสเข้าใกล้ 1 แสนล้านบาท จากเป้าหมายที่วางไว้ 9 หมื่นล้านบาท เพราะครึ่งปีแรกบริษัทมีรายได้รวมแล้ว 4.9 หมื่นล้านบาท และแนวโน้มครึ่งปีหลังจะมียอดขายสูงกว่าครึ่งปีแรก ขณะที่ราคาถ่านหินคาดว่าสูงกว่า 95 เหรียญ/ตัน แม้ว่าราคาน้ำมันขณะนี้ปรับลงแล้ว แต่คาดว่าจะไม่กระทบราคาถ่านหิน
ราคาตาม Global Coal Index ในไตรมาส 3/54 อยู่ที่ 119 เหรียญ/ตัน และในไตรมาส 4/54 อยู่ที่ 120 เหรียญ/ตัน โดยบริษัทกำหนดราคาถ่านหินที่ขายล่วงหน้าไปแล้ว 82% เพราะแนวโน้มความต้องการถ่านหินยังมีสูง หลังเกิดป้ญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น
ในช่วงครึ่งหลังปี 54 เหมืองอินโดนีเซียจะผลิตได้ 14 ล้านต้น จาก 11 ล้านตันในครึ่งปีแรก ออสเตรเลียคาดผลิตได้ 9.5 ล้านตัน จาก 9.2 ล้านตันในครึ่งปีแรก
ด้านนางสมฤดี ชัยมงคล ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-การเงิน BANPU กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะปรับสัดส่วนวงเงินกู้สกุลเงินบาทที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ (fixed) เพิ่มเป็น 30% ภายในปีนี้ จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 19% และหนี้เงินบาทที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว(float)มีสัดส่วน 11% เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยในประเทศยังคงเป็นขาขึ้น
ขณะที่หนี้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะปรับสัดส่วนเพิ่มเป็น 65-70% จากปัจจุบันมี 60% โดยเป็นหนี้มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 8% และอัตราดอกเบี้ยลอยตัว 52% รวมทั้งปรับลดสัดส่วนเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียให้สอดคล้องกับรายได้ จากปัจจุบันมีสัดส่วน 10% อย่างไรก็ดี บริษัทยังไม่รีบปรับดอกเบี้ยลอยตัวของหนี้สกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นดอกเบี้ยคงที่ หลังจากที่สหรัฐมีนโยบายที่จะคงดอกเบี้ยในอัตราต่ำไป 2 ปี
อนึ่ง ณ สิ้น มิ.ย.54 BANPU หนี้ทั้งหมด มีจำนวน 8.4 หมื่นล้านบาท อัตราหนี้สินต่อทุน 0.73 เท่า
บริษัทคาดว่าจะเสนอขายหุ้นกู้ในวงเงิน 1 หมื่นล้านบาทในช่วงปลายไตรมาส 3/54 หรือ ต้นไตรมาส 4/54 โดยต้องรอสำรวจตลาดก่อนจึงจะระบุได้ว่าจะออกหุ้นกู้ อายุเท่าไร เพื่อใช้คืนหนี้เดิม