ฟิทช์คงอันดับเครดิตในประเทศ MBK ที่ระดับ A- แนวโน้มมีสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 12, 2011 12:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบมจ. เอ็ม บี เค (MBK) ที่ระดับ ‘A-(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

อันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพของ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นศูนย์การค้าหลักของบริษัทฯ โดย เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ มีข้อได้เปรียบจากทำเลที่ตั้งที่มีปริมาณการสัญจรของผู้ใช้บริการสูง ความมีชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักมายาวนาน และการวางตำแหน่งทางการตลาดที่มีความเป็นเอกลักษณ์และแตกต่างจากคู่แข่งขันที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ด้วยความความหลากหลายของสินค้าและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายผู้ใช้บริการที่มีมากกว่าคู่แข่งขัน

อันดับเครดิตยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแหล่งที่มาของรายได้ที่มีความหลากหลายมากขึ้นของ MBK จากการที่บริษัทฯ มีการลงทุนในศูนย์การค้าในทำเลใหม่ รวมถึงโครงการโรงแรมและสนามกอล์ฟแห่งใหม่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การขยายธุรกิจดังกล่าวน่าจะยังคงดำเนินต่อไปในระยะ 2 ปีข้างหน้า

การลงทุนในโครงการใหม่ๆ ทำให้รายได้และกระแสเงินสดของ MBK มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด และช่วยชดเชยการเพิ่มขึ้นของต้นทุนค่าเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภายใต้สัญญาเช่าที่ต่ออายุกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2556 นอกจากนี้ แหล่งที่มาของรายได้และกระแสเงินสดที่มีความหลากหลายมากขึ้นยังช่วยลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของรายได้และกระแสเงินสดจากศูนย์การค้าหลักเพียงแห่งเดียวซึ่งได้แก่ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ อีกด้วย

อันดับเครดิตถูกลดทอนลงจากการที่เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์และโรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส จะต้องเผชิญกับต้นทุนค่าเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่สูงขึ้นอย่างมากภายใต้สัญญาเช่าที่ต่ออายุใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 เป็นต้นไป การเพิ่มสูงขึ้นของอัตราค่าเช่าดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยและค่าเช่า รวมถึงอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าวน่าจะบรรเทาลงจากความสามารถในการขึ้นค่าเช่ารวมถึงแหล่งที่มาของรายได้และกระแสเงินสดที่มีความหลากหลายมากขึ้นของ MBK

ธุรกิจโรงแรม สนามกอล์ฟ รวมถึงศูนย์การค้าในบางส่วนของบริษัทฯ มีการพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งขึ้นอยู่กับวัฏจักรเศรษฐกิจและปัจจัยภายนอกหลายประการเช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด การก่อการร้าย และเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 สภาวะทางการเมืองของไทยน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แม้ว่ายังมีประเด็นโต้แย้งทางการเมืองอีกหลายประเด็นที่ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งยังคงถือเป็นปัจจัยเสี่ยง

รายได้รวมและกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ MBK เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.1 และร้อยละ 20.7 มาอยู่ที่ 5.7 พันล้านบาท และ 1.4 พันล้านบาท ตามลำดับ ในช่วงเก้าเดือนแรกของปีงบการเงิน 2554 (ก.ค. 2553 — มี.ค. 2554) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบการเงินก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค ซึ่งเพิ่งแล้วเสร็จจากการปรับปรุงครั้งใหญ่ และสนามกอล์ฟริเวอร์เดลที่เปิดใหม่

อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA margin) ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 24.1 จากร้อยละ 27.2 ในช่วงเวลาเดียวกันของปีงบการเงินก่อน เนื่องมาจากค่าใช้จ่ายก่อนการดำเนินงานในปีแรกหลังจากการปรับปรุงครั้งใหญ่ที่ค่อนข้างสูงของศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค

หนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.1 พันล้านบาท จาก 5.1 พันล้านบาท ณ สิ้นปีงบการเงิน 2553 (สิ้นเดือนมิถุนายน 2553) เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการลงทุนและการชำระภาษีจำนวนกว่า 640 ล้านบาทจากกำไรจากการขายเงินลงทุนที่เกิดขึ้นในปีงบการเงิน 2553 ระดับหนี้สินสุทธิที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวประกอบกับกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) ที่ต่ำผิดปกติในไตรมาสสุดท้ายของปีงบการเงิน 2553 อันเป็นผลจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม 2553 ทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง (Net Adjusted Debt to Last 12-month (LTM) EBITDAR) ของ MBK เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.7 เท่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 จาก 3.6 เท่า ณ สิ้นปีงบการเงิน 2553

อย่างไรก็ตาม ด้วยแหล่งที่มาของรายได้และกระแสเงินสดของ MBK ที่มีการขยายตัวมากขึ้นและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายการลงทุนที่สูงขึ้นเพื่อการขยายธุรกิจ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วดังกล่าวของ MBK น่าจะค่อยๆ ลดลงมาอยู่ในระดับ 3.3 เท่าถึง 3.5 เท่าได้ในช่วงปีงบการเงิน 2554 และ 2555

ปัจจัยที่อาจมีผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตได้แก่ ผลประกอบการที่อ่อนแอลง อันเป็นผลจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องหรือสภาวะแวดล้อมทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการลงทุนที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าที่คาดการณ์โดยมีแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืม ซึ่งส่งผลให้บริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (Net Adjusted Debt to EBITDAR) อยู่ในระดับสูงกว่า 4.0 เท่า และ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Net Debt to EBITDA) อยู่ในระดับสูงกว่า 3.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การปรับขึ้นของอันดับเครดิตไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากต้นทุนค่าเช่าที่จะมีการเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากภายใต้สัญญาเช่าที่ต่ออายุใหม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ