(เพิ่มเติม) SAMARTเผยสนใจเข้าร่วมโครงการแจกแทบเล็ตของรบ. ชูจุดแข็งมีศูนย์ซ่อมทั่วปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 15, 2011 17:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดใหญ่ บมจ. สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) เปิดเผยว่า กลุ่มสามารถสนใจเข้าร่วมโครงการแจกแทบเล็ตให้เด็กประถม จำนวนประมาณ 8 แสนเครื่อง ซึ่งกลุ่มมีจุดแข็งเรื่องการให้บริการหลังการขาย โดยมีศูนย์ซ่อมกว่า 200 แห่งรวมกับร้านพันธมิตร

นอกจากนี้บริษัทยังมีความพร้อมในเรื่องคอนเท้นท์

"มองว่ากำไรยาก แต่เรามองทำ economy of scale มากกว่า 1 ล้านเครื่องมาขายในตลาด" นายวัฒน์ชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ต้องดูรายละเอียดของร่างทีโออาร์ก่อน แต่หากกำหนดราคาเครื่องละ 5-7 พันบาทถือว่าบริษัทสามารถแข่งขันได้

ทั้งนี้ ในปี 54 คาดว่ารายได้ของกลุ่มจะอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท โดยครึ่งปีแรกมีรายได้ 9.3 พันล้านบาท และคาดว่าในปี 56 รายได้รวมกันได้ไม่ต่ำกว่า 5หมื่นล้านบาท โดยมีเป้าหมายในการสร้างธุรกิจด้วยรายได้ประจำและนโยบายของรัฐบาลใหม่คาดว่าจะกระตุ้นอุตสาหกรรมสื่สารไอซีทีเติบโตได้เป็นอย่างดี

"บริษัทฯ มีเป้าหมายชัดเจนในการสร้างธุรกิจให้เติบโตยั่งยืนด้วยรายได้ประจำ เราจึงไม่ได้มองแค่การสร้างรายได้ปีต่อปี แต่มีการวางเป้าหมายยาวไปถึงปี 2556 ว่าทั้งกลุ่มสามารถฯ จะต้องมีรายได้รวมกันไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท และจากเป้าหมายที่ท้าทายนี้ ก็เป็นแรงผลักดันให้ทุกสายธุรกิจของสามารถฯ ต้องเร่งปรับกลยุทธ์และเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ซึ่งก็เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมจากผลประกอบการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การที่ภาคธุรกิจจะขยายตัวได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ก็ต้องอาศัยนโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นสำคัญ โดยผมเชื่อมั่นว่าจากนโยบายของภาครัฐที่จะสร้างรากฐานการเรียนรู้และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคด้วยการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมจะเป็นตัวผลักดันให้อุตสาหกรรมไอซีทีของประเทศขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด“ นายวัฒน์ชัย กล่าว

ในส่วนของบมจ.สามารถเทลคอม (SAMTEL) คาดว่า ในปี 54 รายได้น่าจะทะลุ 1.2 หมื่นล้านบาท จากครึ่งปีแรกที่อยู่ที่ 4,620 ล้านบาท โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังรายได้และกำไรจะโตกว่าครึ่งปีแรก หลังรับรู้งานประมูลต่อเนื่อง โดยมีการับรู้รายได้จากงานวาง 3จี ประมาณ 6-7 พันล้านบาท และในไตรมาส 3/54 จะมีลงนามสัญญาที่ประมูลได้ 4 พันล้านบาท ในไตรมาส 4 จำนวน 3 พันล้านบาท และคาดวาครึ่งปีหลังงานที่ประมูลได้ประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาท

อีกทั้งมีงานใหม่รอประมูลอีกนับสิบโครงการ อาทิ โครงการ AMR เฟส 2 ของ กฟภ. โครงการขยายบริการ CUTE และบริการ RFID ของการท่าฯ ณ สนามบินสุวรรณภูมิ และโครงการ NGN เป็นต้น รวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท

นายไพโรจน์ วโรภาษ รองประธาน SAMTEL กล่าวว่า ที่ผ่านมาบางโครงการรับรู้รายได้ล่าช้าอาจจะทำให้รายได้ไม่ได้ตามเป้าหมาย เพราะอยู่ในช่วงเปลี่ยนรัฐบาลทำให้บางงานต้องรอการอนุมัติของรัฐมนตรี ส่วนงานติดตั้งโครงข่าย 3จี ของทีโอที ล่าช้ากว่าแผนนประมาณ 1 เดือน เนื่องจากทีโอทียังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ ส่วนงาน AMR เฟส 2 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่เปิดประมูลล่าช้า ส่วนโครงการ NGN มูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท บริษัทคาดว่าจะเปิดประมูลในปลายปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ