ทริศฯให้เครดิตองค์กร-หุ้นกู้ไม่มีประกัน TICON ที่ "A" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 18, 2011 08:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลการทบทวนอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON) ที่ระดับ “A" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่า ตลอดจนกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาเช่าโรงงานและคลังสินค้า รวมทั้งผลการดำเนินงานที่ดีของบริษัท ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่เริ่มมีเสถียรภาพหลังการเลือกตั้งทั่วไป อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอในประเทศสหรัฐอเมริกา ประชาคมยุโรป และประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนนโยบายประชานิยมของรัฐบาลชุดใหม่ของไทยถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังสามารถรักษาความเป็นผู้นำในตลาดโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าได้ต่อไป โดยสถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่เริ่มมีเสถียรภาพและการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์จะส่งผลทำให้มีความต้องการพื้นที่เช่าโรงงานเพิ่มขึ้นแม้ความกังวลในเรื่องความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกจะมีมากขึ้นก็ตาม ทริสเรทติ้งรายงานว่า TICON เป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าของไทย โดยก่อตั้งในปี 2533 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2545 บริษัทได้ขยายธุรกิจสู่การให้บริการคลังสินค้าให้เช่าตั้งแต่ปี 2548 โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 มีโรงงานให้เช่าจำนวน 115 โรง และมีคลังสินค้าให้เช่าจำนวน 42 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหลัก ๆ ของประเทศ คิดเป็นพื้นที่ให้เช่ารวมทั้งสิ้น 516,865 ตารางเมตร (ตร.ม.)

ในปี 2553 รายได้หลักของบริษัท (62%) มาจากการขายสินทรัพย์ของบริษัทเข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่ 30% มาจากค่าเช่าโรงงานและคลังสินค้า โดยในระหว่างปี 2549-2553 บริษัทมีรายได้จากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TFUND) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ทีพาร์คโลจีสติคส์ (TLOGIS) ประมาณ 1,500-2,200 ล้านบาทต่อปี

ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ณ เดือนมิถุนายน 2554 ยังคงเป็น บมจ. สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) (21.5%) รวมทั้งกลุ่มผู้บริหารของบริษัท (9.6%) กองทุนเพื่อการร่วมลงทุน (2.3%) และกลุ่มซิตี้เรียลตี้ (4.6%) ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากผลงานการให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปที่มีคุณภาพ รวมทั้งความสามารถในการก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูปมาตรฐานในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งจากการใช้ทีมงานก่อสร้างของบริษัทเอง ปัจจุบันบริษัทให้บริการโรงงานสำเร็จรูปให้เช่ากระจายตัวในทำเลต่าง ๆ 13 แห่งและคลังสินค้าให้เช่าอีก 8 แห่ง

จากรายงานของ CB Richard Ellis (CBRE) ระบุว่า ณ เดือนมีนาคม 2554 บริษัทยังคงเป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่าในประเทศไทย โดยบริษัทและ TFUND มีส่วนแบ่งทางการตลาดของพื้นที่โรงงานให้เช่ารวม 64.3% ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งรายอื่นเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ คู่แข่งสำคัญประกอบด้วย บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (11.8%) บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) (10.0%) บริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยอินดัสเตรียล 1 (7.2%) และ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) (6.7%)

จำนวนพื้นที่เช่ารวมภายใต้การบริหารของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นในระหว่างปี 2550-2553 อย่างต่อเนื่องปีละ 15%-22% หรือเพิ่มขึ้น 100,000-140,000 ตร.ม. ต่อปี ยกเว้นในปี 2552 ซึ่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกที่จำนวนพื้นที่ให้เช่าเพิ่มขึ้นเพียง 5% จากปี 2551 หรือเพิ่มขึ้น 34,625 ตร.ม. อย่างไรก็ตาม ระดับดังกล่าวถือว่าดีกว่าของคู่แข่งอย่างมากเนื่องจากผู้ประกอบการในธุรกิจส่วนใหญ่มีจำนวนพื้นที่เช่าลดลงในปี 2552

การเติบโตของจำนวนพื้นที่เช่าดังกล่าวของบริษัทเป็นผลจากการเติบโตของคลังสินค้าให้เช่าซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของพื้นที่โรงงานสำเร็จรูปให้เช่า ในขณะเดียวกัน จำนวนพื้นที่เช่าของบริษัทหลังจากการขายสินทรัพย์บางส่วนให้ TFUND และ TLOGIS ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเพิ่มเป็น 400,195 ตร.ม. ในปี 2553 จาก 344,943 ตร.ม. ในปี 2549 หรือเติบโตในอัตรา 3.8% ต่อปี ในช่วงเดียวกัน

รายได้ค่าเช่าของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 851 ล้านบาทในปี 2553 จาก 628 ล้านบาทในปี 2549 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 รายได้ค่าเช่าของบริษัทยังคงเติบโตในระดับ 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 454 ล้านบาท พื้นที่เช่าโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 29% จากเดือนธันวาคม 2553 เป็น 516,865 ตร.ม. ณ เดือนมิถุนายน 2554 เทียบกับอัตราการเติบโต 12% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 อัตราการเช่ารวมปรับตัวดีขึ้นเป็น 84.4% ณ เดือนมิถุนายน 2554 จาก 74.6% ณ เดือนธันวาคม 2553 จำนวนพื้นที่เช่าและอัตราการเช่าที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงการฟื้นตัวของความต้องการเช่าพื้นที่โรงงานและคลังสินค้า

อัตรากำไรขั้นต้นของค่าเช่าของบริษัทยังอยู่ในระดับสูงที่ 74.1% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 แม้ว่าจะลดลงจาก 78.0% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เนื่องจากการมีสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจคลังสินค้าซึ่งมีกำไรต่ำกว่าและการมีต้นทุนในการปรับปรุงโรงงานและคลังสินค้าที่สูงขึ้น ณ เดือนมิถุนายน 2554 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับทรงตัวที่ 52.3%

ในอนาคต ความต้องการโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่ายังคงมีแนวโน้มเติบโตจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของมูลค่าโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนซึ่งเพิ่มขึ่น 34% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานและการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สะดุดไปชั่วขณะ

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบเพียงระยะสั้น ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ได้ประกาศเพิ่มการผลิตให้กลับสู่ระดับปกติในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 หลังจากที่ได้ลดการผลิตลง 50% ในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2554 ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะได้ประโยชน์จากความต้องการพื้นที่เช่าที่จะเพิ่มขึ้นในไตรมาสต่อ ๆ ไปเนื่องจาก 70% ของลูกค้าที่เช่าพื้นที่ของบริษัทเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ