เอสซีจี เคมิคอลล์ หนึ่งในธุรกิจของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) ทุ่มงบลงทุน 2.5 พันล้านบาทในช่วงปี 54-59 เพื่อลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมจากปีก่อนใช้งบเกือบ 500 ล้านบาท หวังยกระดับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมให้ดีกว่ามาตรฐานทั่วไป ตั้งเป้าในปี 56 โรงงานในมาบตาพุดทั้ง 17 แห่งจะเป็น Green Manufacturing และปลายปีจะเป็น Eco Factory ฉลองครบรอบ 100 ปีของกลุ่มเอสซีจี (8 ธ.ค.) ขณะที่ปี 54 นี้ตั้งเป้าเป็น Zero Greenfield หรือพื้นที่ภายในโรงงานไม่กำจัดกากของเสียโดยวิธีฝังกลบ ขณะเดียวกันวิจัยและพัฒนาสินค้าที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ล่าสุดเปิดตัว เม็ดพลาสติกแบบไบโอชีวภาพ
นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-ปฏิบัติการ เอสซีจี เคมิคอลล์ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท มาบตาพุดโอเลฟินส์ จำกัด ในเอสซีจี เคมิคอลล์ เปิดเผยว่า เอสซีจี เคมิคอลล์ ได้จัดสรรงบประมาณ 2.5 พันล้านบาท สำหรับแผนงานลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งจะดำเนินการต่อเนื่องในปี 54-59 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานใน 7 ด้าน การลดการใช้พลังงาน การลดค่าไนไตรเจนออกไซด์ (Noxs) การลดสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) การลดเสียง การบริหารจัดการเรื่องน้ำ การจัดการกากของเสีย และการกำหนดเขตพื้นที่สีเขียว นอกเหนือจากนี้ กลุ่มเอสซีจี เคมิคอลล์ ได้ตั้งงบประมาณด้าน CSR ปีล 100 ล้านบาท
โครงการหลัก ได้แก่ โครงการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียโดยการลงทุนติดตั้งระบบบำบัดแบบไม่ใช้อากาศ (Anaerobic Waste Water Treatment) ใช้งบลงทุน 450 ล้านบาท จากเดิมใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศ นอกจากจะช่วยลดการใช้พลังงานในการเดินเครื่องอัดอากาศและลดการเกิดกากของเสียแล้วยังให้ก๊าซชีวภาพเป็นผลพลอยได้ ซึ่งสามารถนำมาเป็นพลังงานทดแทนในกระบวนการผลิติต่อไป ช่วยลดการใช้พลังงานได้ประมาณเดือนละ 100 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จในเดือน ก.ค. 55
นอกจากนี้มีโครงการติดตั้งหอเตาเผาภายใน (Enclosure Ground Flare) ที่โรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ สูง 30 เมตร ฐานกว้าง 16 เมตร โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท การดำเนินโคงการดังกล่าวเพื่อมุ่งความปลอดภัย และ บริษัทยังมีค่าใช้จ่ายราว 1 แสนบาทต่อเดือนในเรือ่งค่าเชื้อเพลิง โครงการก่อสร้างหอเผาภายในจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือน ก.ย.นี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 56
สำหรับแผนงานด้านลดสารอินทรีย์ระเหยง่าย(VOCs) เอสซีจี เคมิคอลล์ มีแผนปรับปรุงลด VOCs แบบฟุ้งกระจายให้เป็นศูนย์ โดยลงทุนก่อสร้างหน่วยดักเก็บสารอินทรีย์ระเหยง่าย(VRU) เพือดักจับ VOCs ไม่ให้ออกสู่บรรยากาศได้ดียิ่งขึ้น จะมีการติดตั้ง 2 โครงการคือ ที่โรงงานผลิตโพลิโพรไพลีนแห่งที่ 1 และ 2 และที่ท่าเทียบเรือแห่งที่ 1 แห่งที่ 3 และแห่งที่ 4ของท่าเรือมาบตาพุดแทงค์เทอร์มินัล โดยใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 250 ล้านบาท โดยทั้งสองโครงการคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มี.ค. และ ต,ค. ปี 55
นอกจากนี้ ยังมีโครงการจัดซื้อ Catalyst ชุดสำรอง เพื่อไม่ให้มีการ regeneration ในโรงงาน ป้องกันไม่ให้เกิดกลิ่น โครงการติดตั้ง Absorption Chiller โครงการนำพลังงานความร้อนเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตกลับมาใช้ประโยชน์ และโครงการอื่นๆ
นายสมชาย กล่าวว่า กลุ่มเอสซีจี เคมิคอลล์ ดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ช่วยทำให้ชุมชนที่อยู่ใกล้โรงงานเกิดความเชื่อมั่น และเกิดภาพลักษณ์ที่ดีของกลุ่มเอสซีจี แม้สิ่งที่ทำจะไม่ได้กลับมาเป็นรูปผลกำไรก็ตาม
ขณะเดียวกัน การดำเนินโครงการต่างๆ ทำให้เกิดผลพลอยได้ นำไปเป็นวัตถุดิบของโรงงานภายในกลุ่มเอสซีจีซึ่งข้อดีของกลุ่มมีอุตสาหกรรมที่หลากหลายช่วยทำให้เกิดการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรได้เต็มที่ ทั้งโรงงานเคมิคอลล์ โรงงานปูนซิเมนต์ โรงงานกระดาษ
"เรามุ่งหวังที่จะดูแลและยกระดับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่มาบตาพุด โดยทำให้ดีกว่ามาตรฐานทั่วไป เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชน ส่งเสริมให้ชุมชนและอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน และเอสซีจี เคมิคอลล์ จะเป็นต้นแบบโรงงานสีเขียว ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยึดเป็นแนวทางและหันมาใส่ใจดูแลด้านสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นไป"นายสมชาย กล่าว
ขณะที่บริษัทได้วัจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ล่าสุดได้ออกสินค้าเม็ดพลาสติกไบโอชีวภาพ ซึ่งทำจากแป้งมันสำปะหลัง โดยผลิตถุงใช้ในการเพาะชำ ซึ่งสามารถย่อยสลายได้เอง และสามารถผลิตเป็นภาชนะแทนการใช้โฟม แต่ยอมรับว่า ราคาขายในปัจจุบันสูง 4-6 เท่า ยังไม่ค่อยได้รับความนิยม