นายอำพน กิตติอำพน ประธานคณะกรรมการ บมจ.การบินไทย(THAI)เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติอนุมัติให้จัดตั้งสายการบิน"ไทย สมาย"ที่เน้นเส้นทางบินในประเทศและภูมิภาค ซึ่งจะเริ่มให้บริการได้ภายในเดือน ก.ค.55 โดยสายการบินดังกล่าวจะดำเนินการในรูปของหน่วยธุรกิจภายใต้การบินไทย คาดว่าจะเริ่มทำกำไรในปี 56 โดยจะทำรายได้ราว 5 พันล้านบาท
แผนธุรกิจและแผนการลงทุนของหน่วยธุรกิจการบินราคาประหยัด มีโครงสร้างการบริหารจัดการเป็นหน่วยธุรกิจที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการบินไทย โดยไม่ได้แยกไปจัดตั้งบริษัทใหม่และไม่ใช่สายการบินใหม่ แต่ยังคงใช้ Airline code เป็น TG เช่นเดียวกับทุกเที่ยวบินของการบินไทย แต่หน่วยธุรกิจใหม่จะมีการบริหารงานและคณะกรรมการบริหารที่แยกออกเป็นอีกส่วนหนึ่ง เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน
"ไทย สมาย"จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็น Light Premium ซึ่งไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ในลักษณะเดียวกันกับสายการบินต้นทุนต่ำ แต่จะเป็น Sub-brand ของการบินไทยที่ต้องการสร้างความแตกต่างเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ลูกค้า โดยผลิตภัณฑ์ใหม่จะมีภาพลักษณ์ที่มีความทันสมัยเน้นความรวดเร็วของการให้บริการ และมีระดับราคาและการบริการที่เหมาะสมกับเส้นทางบิน โดยลูกค้าจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น บริการอาหารเครื่องดื่ม การเลือกที่นั่ง น้ำหนักกระเป๋าสัมภาระ รวมทั้งการสะสมไมล์ เช่นเดียวกับทุกเที่ยวบินของการบินไทย ในราคาที่คุ้มค่า
และจะทำการบินออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยใช้เครื่องบินแอร์บัส เอ 320 ความจุ 174 ที่นั่ง ซึ่งเหมาะสมกับตลาดเส้นทางบินรองเน้นระยะใกล้ 1-2 ชั่วโมง ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เน้นความถี่ของเที่ยวบิน ตารางบินจะสอดคล้องและรองรับการเชื่อมต่อกับเที่ยวบินหลักของการบินไทย เริ่มทำการบินในปี 55 จากเส้นทางภายในประเทศ ได้แก่ อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น เชียงราย และสุราษฎร์ธานี จากนั้นในปี 56 จะเริ่มทำการบินในตลาดต่างประเทศ เน้นตลาดอาเซียน จีน และอินเดีย
ด้านบุคลากรจะเริ่มดำเนินการรับสมัคร และคัดเลือกพนักงานในปลายปี 54 เปิดให้บริการจำหน่ายบัตรโดยสารภายในต้นปี 55 และจะเริ่มทำการบินประมาณเดือน ก.ค.55
สำหรับชื่อผลิตภัณฑ์"ไทย สมาย"มาจากการเชิญชวนพนักงานร่วมประกวดตั้งชื่อ จนสามารถสรุปได้รอบสุดท้าย 10 ชื่อให้คณะกรรมการบริษัทฯ คัดเลือก ภายใต้เกณฑ์การพิจารณาที่ต้องการสื่อภาพลักษณ์ภายใต้แนวคิด Trendy — Friendly —Worthy Travel
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติโครงสร้างของหน่วยธุรกิจการบินราคาประหยัดเพื่อให้การบริหารงานของหน่วยธุรกิจการบินราคาประหยัดเป็นไปได้ด้วยความคล่องตัว และสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารธุรกิจการบินราคาประหยัด (Low-fare Executive Management: LEM) รายงานตรงกับคณะกรรมการบริหารบริษัทฯ และคณะกรรมการบริษัทฯ เช่นเดียวกับหน่วยธุรกิจอื่น
หน่วยธุรกิจการบินราคาประหยัดจัดโครงสร้างองค์กร ในรูปแบบแนวราบและกระชับ (Flat & Lean) ประกอบด้วยกรรมการผู้จัดการหน่วยธุรกิจการบินราคาประหยัด ระดับผู้อำนวยการใหญ่เป็นผู้บริหารสูงสุดของหน่วยธุรกิจ และมีหน่วยงานหลัก ได้แก่ ส่วนงานปฏิบัติการ ส่วนงานบริหารการจัดจำหน่ายและรายได้ ส่วนงานสื่อสารการตลาดและบริการลูกค้า และฝ่ายบริหารงานทั่วไป ซึ่งคณะกรรมการฯมีมติโยกย้ายนายวรเนติ หล้าพระบาง ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายกลยุทธ์และแผน ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการหน่วยธุรกิจการบินราคาประหยัด
พร้อมกันนั้น คณะกรรมการฯ ยังรับทราบกรณีที่ผู้ถือหุ้นสายการบินนกแอร์ จำนวน 3 ราย คือ บมจ.ทิพยประกันภัย(TIP) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) และกองทุนเปิดไทยทวีทุน ซึ่งมีสัดส่วนถือหุ้นในสายการบินนกแอร์รวม 25% จะขายหุ้นให้กับ บริษัท นกแอร์ แมนเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งก่อตั้งโดยผู้บริหารนกแอร์ ในราคาหุ้นละ 33 บาท โดยคิดเป็นวงเงินรวม 412.5 ล้านบาท
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI ยังเปิดเผยอีกว่า บริษัทจะเดินหน้าเสนอซื้อหุ้นสายการบินนกแอร์ในสัดส่วน 10% จากธนาคารกรุงไทย(KTB)โดยจะเสนอราคาที่ 33 เท่า/หุ้น เท่ากับที่มีการซื้อขายกันข้างต้น และยังยืนยันที่จะร่วมมือกับสายการบินไทยเกอร์ แอร์เวย์สที่จะจัดตั้งสายการบินไทย"ไทย ไทยเกอร์ แอร์เวย์ส"โดยจะเข้าหารือกับรมว.คมนาคมในเร็ว ๆ นี้