ตลท.ยอมรับตลาดเงินตลาดทุนยังผันผวนหนัก เล็งพารบ.จีบกองทุนจากจีน-ญีปุ่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 29, 2011 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยอมรับตลาดเงินตลาดทุนผันผวนสูงจากเงินท่วมตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนทั้งในไทยและสหรัฐยังเติบโตได้ดี หวังดึงนักลงทุนสถาบันจากจีนญีปุ่นเข้ามามากขึ้น ขณะที่การมีรัฐบาลใหม่ช่วยทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นในหุ้นไทย เพราะจะมีเสถียรภาพ

นายวิรไท สันติประภพ รองผู้จัดการสายงานพัฒนาและวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)กล่าวในงาน"รัฐบาลใหม่: จุดเปลี่ยนตลาดเงินตลาดทุนไทย"ว่า ภาวะตลาดเงินตลาดทุนในครึ่งหลังปี 54 ก็ยังคงมีสภาพคล่องสูง เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐและยุโรป ทำให้การใช้เครื่องมือนโยบายการคลังทำได้ไม่มาก แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)และธนาคารกลางของสหภาพยุโรปพยายามจะเข้ามาแก้ไขเศรษฐกิจมากขึ้นแต่ก็ยังไม่มีทางออกชัดเจน ประกอบกับ มีปัจจัยลบกระหน่ำเข้ามา ได้แก่การถูกลดอันดับเครดิตของสหรัฐ เป็นต้น

แต่เห็นว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นสหรัฐยังมีผลประกอบการค่อนข้างดีอย่างต่อเน่อง แต่การลงทุนก็ต้องคำนึงถึงตลาดโดยรวมด้วย ดังนั้น จังหวะเข้าออกในการลงทุนต้องระมัดระวัง

ส่วนนโยบายรัฐบาลใหม่ เท่าที่เห็นจำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการดำเนินโครงการต่างๆ โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งตรงนี้คาดว่าจะมีการระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

นายวิรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนนักลงทุนสถาบันในตลาดหุ้นไทยยังน้อยอยู่ หากเพิ่มได้มากขึ้นตลาดหุ้นไทยจะไม่ผันผวนมากเกินไป เพราะนักลงทุนสถาบันลงทุนในระยะยาว โดยได้เริ่มเข้าไปโรดโชว์กับกองทุนจากจีน และญี่ป่น ทั้งที่เป็นของรัฐบาล และ เอกชน จากเดิมที่มีนักลงทุนสถาบันจากสหรัฐและยุโรปเข้าตลาดหุ้นไทย

"เราจะไปโรดโชว์ แต่สิ่งสำคัญเราจะพารัฐบาลใหม่ ไปพูดคุยนโยบายรัฐบาล หวังว่า เมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาจะทำให้มีเสถียรภาพมากขึ้น นักลงทุนสถาบันก็จะมั่นใจ" นายวิรไท กล่าว

ด้านนางสาวชลจิต วรวังโส นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าววา ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา(ปี 47- 53)ไทยมีการลงทุนน้อยมากจนทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่เกิน 4-5%เนื่องจากปัญหาการเมืองเป็นหลัก และล่าสุดเศรษฐกิจในไตรมาส 2/54 มีการขยายตัวชะลอลง อยู่ที่ 2.6%

แต่เมื่อร้ฐบาลใหม่ได้ประกาศนโยบายที่จะลงทุนปัจจัยพื้นฐาน โดยมุ่งไปที่การพัฒนาระบบรางเพื่อขนส่งมวลชนและการบริหารจัดการระบบขนส่งสินค้าและบริหาร หรือโลจิสติกส์ รวมถึงด้านพลังงาน , น้ำ และ สาธารณสุข ดังนั้น เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้มากกว่า 5% และภาคเอกชนจะเข้ามามีส่วนรวมในการลงทุนดังกล่าว จากขณะนี้ที่มีการแก้ไขกฎหมายการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ