ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กคาดเฟดใช้แผนกระตุ้นศก. หนุนดาวโจนส์บวก 20.70 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 31, 2011 06:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (30 ส.ค.) หลังจากรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) บ่งชี้ว่า คณะกรรมการเฟดได้หารือกันเกี่ยวกับขอบข่ายการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการเข้าซื้อพันธบัตรครั้งใหม่ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนคาดว่าเฟดอาจจะประกาศใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งใหม่ในการประชุมเดือนก.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวขึ้นในกรอบจำกัด เพราะได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงมาอย่างมาก

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดบวก 20.70 จุด หรือ 0.18% แตะระดับ 11,559.95 จุด ดัชนี S&P 500 ปิดบวก 2.84 จุด หรือ 0.23% แตะที่ 1,212.92 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดบวก 14.00 จุด หรือ 0.55% แตะที่ 2,576.11 จุด

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ในการซื้อขายช่วงเช้านั้น ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงเนื่องจากนักลงทุนเข้ามาเทขายทำกำไรหลังจากดัชนีดาวโจนส์ทะยานขึ้นแข็งแกร่งเมื่อวันจันทร์ โดยหุ้นกลุ่มการเงินดิ่งลงหนักสุด แต่หลังจากที่คณะกรรมการเฟดเปิดเผยรายงานการประชุมซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น ตลาดหุ้นนิวยอร์กก็ดีดตัวขึ้นทันที เนื่องจากเนื้อหาบางตอนของรายงานการประชุมระบุว่า คณะกรรมการเฟดได้หารือกันเกี่ยวกับการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า คณะกรรมการเฟดอาจจะประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการประชุมเฟดครั้งต่อไปซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 20-21 ก.ย.นี้

นักวิเคราะห์จากเธมิส เทรดดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทโบรกเกอร์ในสหรัฐกล่าวว่า นักลงทุนมองว่า แม้เบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณการใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบสาม (QE3) ในที่ประชุมธนาคารกลางโลกที่รัฐไวโอมิงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่ถ้อยแถลงของเบอร์นันเก้บ่งชี้ว่า เฟดอาจจะประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ในการประชุมในเดือนก.ย. ประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐที่มีการเปิดเผยออกมาเป็นระลอก ก็ยิ่งเพิ่มน้ำหนักให้กับการส่งสัญญาณดังกล่าวด้วย ซึ่งมุมมองดังกล่าวยังคงเป็นปัจจัยที่หนุนตลาดหุ้นนิวยอร์กดีดตัวขึ้นปิดในแดนบวกต่อเนื่องจากวันจันทร์

ส่วนในการประชุมเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed funds rate) ที่ระดับ 0-0.25% พร้อมประกาศว่าจะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษต่อไปอีกอย่างน้อยจนถึงกลางปี 2556 นอกจากนี้ คณะกรรมการเฟดยังประกาศความพร้อมที่จะใช้เครื่องมือต่างๆ หากจำเป็น

อย่างไรก็ตาม ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างผันผวน หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหัฐ โดยคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 44.5 จุดในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2552 เนื่องจากชาวอเมริกันวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มรายได้และการจ้างงาน

ขณะที่สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์/เคส ชิลเลอร์เปิดเผยว่า ราคาบ้านใน 20 เขตเมืองของสหรัฐประจำเดือนมิ.ย.ปรับตัวลดลง 0.1% เมื่อเทียบเป็นเดือน และหากเทียบเป็นรายปีพบว่าราคาบ้านร่วงลง 4.5% ตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะทรงตัวจากระดับของเดือนพ.ค.

หุ้นกลุ่มการเงินร่วงลงหนักสุดเมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มอื่นๆที่คำนวณในดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ โดยหุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ดิ่งลง 3.2% หุ้นเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ร่วงลง 1.5%

หุ้นแคทเตอร์พิลลาร์ อิงค์ พุ่งขึ้น 1.9% ส่วนหุ้นโบอิ้ง โค ทะยานขึ้น 2.2% หลังจากมีรายงานว่าโบอิ้งได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารของบริษัท ให้สร้างเครื่องบินเจ็ทรุ่น 737 เพื่อช่วยให้โบอิ้งสามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายใหญ่อย่างแอร์บัสได้

นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยวันพุธ ADP Employer Services จะเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือนส.ค., สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) จะเปิดเผยดัชนีภาวะธุรกิจรัฐนิวยอร์คเดือนส.ค., สมาคมผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อแห่งชาติ (NAPM) จะเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโกเดือนส.ค. และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยยอดสั่งซื้อของโรงงานเดือนก.ค.

วันพฤหัสบดี เฟดจะเปิดเผยประสิทธิภาพการผลิตไตรมาส, กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) จะเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตเดือนส.ค. ส่วนกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนส.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ