ทริสคงเครดิตองค์กรSPALIหุ้นกู้ไม่มีประกันที่A-,หุ้นกู้มีประกันA/Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 13, 2011 09:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของบมจ.ศุภาลัย(SPALI)ที่ระดับ “A-" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีประกันของบริษัทที่ระดับ “A" และหุ้นกู้ไม่มีประกันที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานที่ยาวนานของบริษัทในตลาดพัฒนาที่อยู่อาศัย ตลอดจนแบรนด์สินค้าที่ได้รับการยอมรับในตลาดผู้มีรายได้ระดับปานกลาง ความสามารถในการควบคุมต้นทุนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงไปบางส่วนจากลักษณะของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นวงจรขึ้นลง ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของค่าวัสดุก่อสร้างและค่าแรงงาน และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ในขณะที่อันดับเครดิตหุ้นกู้มีประกันของบริษัทได้รับแรงหนุนจากมูลค่าของอาคารสำนักงานให้เช่า “ศุภาลัย แกรนด์ ทาวเวอร์" ซึ่งใช้เป็นหลักประกันที่ระดับ 1.7 เท่าของมูลค่าหุ้นกู้คงค้างตลอดอายุของหุ้นกู้

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ในระยะปานกลาง โดยคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตรากำไรให้อยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งแม้มาตรการด้านภาษีของรัฐบาลจะสิ้นสุดลงและการแข่งขันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นก็ตาม นอกจากนี้ แม้บริษัทจะวางแผนขยายโครงการและซื้อที่ดินเพิ่มขึ้น บริษัทก็ควรจะรักษากระแสเงินสดและอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้เอาไว้

ทริสเรทติ้งรายงานว่า SPALI เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2532 โดยตระกูลตั้งมติธรรม ณ เดือนพฤษภาคม 2554 ตระกูลตั้งมติธรรมยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทที่ถือครองหุ้นในสัดส่วนทั้งสิ้น 28% โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 บริษัทมีโครงการที่อยู่อาศัย 67 โครงการ ด้วยมูลค่ายอดขายคงเหลือประมาณ 21,000 ล้านบาท และยังมียอดขายที่รอรับรู้รายได้เป็นจำนวนมากถึงประมาณ 19,000 ล้านบาท โครงการที่อยู่อาศัยของบริษัทมีทั้งโครงการคอนโดมิเนียมซึ่งคิดเป็น 61% ของมูลค่าโครงการทั้งหมด และโครงการบ้านจัดสรรซึ่งคิดเป็น 39% ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากความสามารถในการควบคุมต้นทุนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพซึ่งทำให้บริษัทสามารถเสนอขายที่อยู่อาศัยในราคาที่แข่งขันได้

ยอดขายของบริษัทในปี 2553 คิดเป็นมูลค่า 14,366 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จาก 13,237 ล้านบาทในปี 2552 อันเป็นผลมาจากความสำเร็จในการเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ในปี 2553 ซึ่งทำให้ยอดขายคอนโดมิเนียมในปี 2553 อยู่ที่ 9,550 ล้านบาท จาก 7,882 ล้านบาทในปี 2552 ในทางตรงข้าม ยอดขายบ้านจัดสรรลดลงประมาณ 10% ในปี 2553 ทั้งนี้ ยอดขายของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 13% เป็น 8,344 ล้านบาท จาก 7,358 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2553

ส่วนรายได้รวมนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับยอดขาย โดยปรับตัวดีขึ้นเป็น 11,083 ล้านบาทในปี 2553 จาก 9,618 ล้านบาทในปี 2552 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 รายได้ของบริษัทอยู่ที่ 7,309 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% จาก 5,281 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2553 ซึ่งเป็นผลจากการโอนบ้านจัดสรรที่มากขึ้นในปี 2553 และการโอนคอนโดมิเนียมโครงการศุภาลัย ปาร์ค เกษตร-นวมินทร์ โครงการซิตี้โฮม รัตนาธิเบศร์ และโครงการซิตี้รีสอร์ต รามคำแหง

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานลดลงเล็กน้อยจากระดับ 34.95% ในปี 2553 เป็น 32.93% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 ทั้งนี้ อัตรากำไรที่ลดลงเป็นผลมาจากการสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านภาษีของรัฐบาลในช่วงกลางปี 2553 อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดของบริษัทยังคงแข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมที่ระดับ 54.05% ในปี 2553 และ 38.22% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 30.58% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554

ความต้องการที่อยู่อาศัยขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาวะเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยปกติภาครัฐมักให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ตลาดที่อยู่อาศัยของไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากแรงกระตุ้นของมาตรการจูงใจด้านภาษีของภาครัฐในช่วงปี 2551-2553 และภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม ตลาดที่อยู่อาศัยอยู่ในสภาวะทรงตัวตลอดปี 2553

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหลายรายได้เร่งซื้อที่ดินเพิ่มตั้งแต่ปลายปี 2552 ซึ่งส่งผลทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของผู้ประกอบการหลายรายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปี 2553 การเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV Ratio) ของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2554 และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงวงจรขาขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่ชะลอความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการเก็งกำไรในตลาดคอนโดมิเนียมลงและลดทอนความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น อัตราการเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัยในปีนี้จึงต่ำลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายได้เข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากผู้ประกอบการรายเล็กเพราะผู้ประกอบการรายใหญ่พยายามเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจโดยการเข้าไปแข่งขันในตลาดที่อยู่อาศัยในระดับราคาที่ต่ำลง สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสาเหตุที่ทำให้การแข่งขันทวีความรุนแรงยิ่งกว่าในอดีต ในส่วนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลชุดปัจจุบันนั้น ทริสเรทติ้งจะติดตามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ