นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) กล่าวว่า บริษัทยังคงสนใจเข้าลงทุนธุรกิจเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียเพิ่มเติมอีก และได้เตรียมแหล่งเงินทุนพร้อม แต่ขณะนี้ราคาที่เสนอซื้อขายกันในตลาดยังสูงเกินไป บริษัทจึงต้องรอดูจังหวะเวลาและราคาที่เหมาะสม
ที่สำคัญบริษัทจะเน้นเข้าซื้อกิจการเหมืองที่มีถ่านหินคุณภาพสูง หรือค่าความร้อนสูง เนื่องจาก BANPU มีลูกค้าหลักได้แก่ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี ที่รับซื้อถ่านหินคุณภาพสูง และแนวโน้มตลาดจะเปิดกว้างสำหรับถ่านหินคุณภาพสูง หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิในญี่ปุ่น
นายชนินท์ ระบุว่า กิจการที่เข้าซื้อควรจะมีมีมูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไปจะสร้างความคุ้มค่าการลงทุน ขณะที่บริษัทมีเงินในมือที่พร้อมลงทุนอยู่แล้วราว 800 ล้านเหรียญสหรัฐ
"เราให้ความสำคัญกับเหมืองถ่านหินที่มีถ่านคุณภาพสูง หรือค่าความร้อนสูง ตอนนี้หาซื้อยาก ราคาแพง รอดูหาจังหวะ"นายชนินท์ กล่าว
ทั้งนี้ BANPU ตั้งเป้าในช่วง 5 ปีนี้(ปี 54-58) Enterprise Value (มูลค่ากิจการ) เติบโตได้ปีละ 13% ซึ่งรวมถึงการซื้อกิจการเพิ่มเติมด้วย
ด้านราคาถ่านหินในปัจจุบันที่เป็นราคา spot อยู่ระดับประมาณ 124.2 เหรียญสหรัฐ/ตัน เป็นผลจากที่มีความต้องการสูง ทั้งจากญี่ปุ่นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เสียหาย อินเดีย และ จีน และ คาดว่าจากนี้ถึงสิ้นปีราคาถ่านหินจะทรงตัวในระดับ 120 เหรียญสหรัฐ/ตัน และคาดว่าจะราคาจะดีต่อเนื่อง หรือทรงตัว แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปจะถดถอยก็ตาม
*มั่นใจไม่กระทบหากอินโดฯออกกฎคุมส่งออกถ่านหิน
นายชนินท์ กล่าวว่า ในช่วงนี้ทางการอินโดนีเซียกำลังพิจารณาที่จะออกกฎเกณฑ์ห้ามส่งออกถ่านหินที่ผลิตอินโดนีเซีย โดยอาจกำหนดค่าความร้อนไว้ที่ระหว่าง 5,200-5,700 กิโลแคลอรี่ ขณะที่ถ่านหินที่ผลิตได้ในอินโดนีเซียเฉลี่ยจะมีค่าค่วามร้อน 5,600-5,700 กิโลกแคลอรี่ ซึ่งสำหรับ BANPU เชื่อว่าจะไม่กระทบกับบริษัท
เนื่องจากถ่านหินที่ BANPU ผลิตได้ส่วนใหญ่มีค่าความร้อนเฉลี่ยที่ 6,300 กิโลแคลอรี่ ยกเว้นเหมืองโจ-ร่งในจีนที่ผลิตถ่านหินได้ค่าความร้อนประมาณ 5,000-5,200 กิโลแคลอรี่ ดังนั้น หากทางการอินโดนีเซียออกกฎระเบียบเช่นนั้นจริง BANPU ไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะกลับมาเป็นผลดีให้ราคาถ่านหินในตลาดสูงขึ้น เพราะซัพพลายถูกจำกัด ทั้งนี้ ปริมาณผลิตถ่านหินในอินโดนีเซีย ส่งออกไปประเทศอื่น 21 ล้านตัน ส่งเข้าไทย 2 ล้านตัน และขายในอินโดนีเซียประมาณ 2 ล้านตัน
ทั้งนี้ บริษัท พีที อินโด ทัมบันกรายา เมกาห์ ทีบีเค (ITM) ซึ่ง BANPU ถือหุ้น 65% โดย ITM เป็นผู้ผลิตถ่านหินอันดบ 4 ของอินโดนีซีย จากการผลิตถ่านหินในเหมือง 6 แห่งบนเกาะกาลิมันตัน โดยปีนี้มีเป้าหมายการผลิต 25 ล้านตัน ได้แก่ อินโดมินโค 15 ล้านตัน, ทรูบาอินโด 7.5 ล้านตัน, คิตาคิน-เอ็มบาลุต 1 ล้านตัน, โจ-ร่ง 1 ล้านตัน, คิตาคิน -ทันดุงมายัง 5 แสนตัน (เริ่มผลิตไตรมาส 3254) และ บารินโต 2 แสนตัน(ผลิตในไตรมส 4/54)
นายชนินท์ กล่าวว่า ความเสี่ยงการทำธุรกิจเหมืองถ่านหินในขณะนี้ คือกฎระเบียบของทางการแต่ละประเทศที่ไปเข้าลงทุน หรือ Regulatory Risks ที่บริษัทไม่สามารถควบคุมได้ และความเสี่ยงจากราคาถ่านหินที่ขึ้นลงตามดีมานด์ซัพพลายในตลาด