ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กแรงซื้อเก็งกำไรหนุนดาวโจนส์บวก 44.73 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 14, 2011 06:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (13 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเข้ามาช้อนซื้อเก็งกำไรหุ้นที่ร่วงลงเมื่อวันก่อน นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดว่าในการประชุมระหว่างผู้นำกรีซ เยอรมนี และฝรั่งเศส ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงเย็นวันพุธตามเวลาไทยนั้น จะมีการหารือกันถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือกรีซและยับยั้งการลุกลามของหนี้สาธารณะในยุโรป อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเต็มไปด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงกังวลเรื่องปัญหาหนี้กรีซ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 44.73 จุด หรือ 0.40% ปิดที่ 11,105.85 จุด ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 10.60 จุด หรือ 0.91% ปิดที่ 1,172.87 จุด และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 37.06 จุด หรือ 1.49% ปิดที่ 2,532.15 จุด

ตลาดหุ้นนิวยอร์กดีดตัวขึ้นจากการที่นักลงทุนเข้ามาช้อนซื้อเก็งกำไรหลังจากที่ตลาดร่วงลงอย่างหนักเมื่อวันศุกร์ อันเนื่องมาจากการลาออกอย่างกระทันหันของนายเจอร์เกน สตาร์ค สมาชิกคณะกรรมการบริหารของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ทำให้นักลงทุนกังวลว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอีซีบีอาจทำให้แผนการกู้วิกฤตหนี้ยุโรปต้องล่าช้าออกไป

นักวิเคราะห์จากอินเวสต์เมนท์ รีเสิร์ชกล่าวว่า ตลาดหุ้นนิวยอร์กดีดตัวขึ้นต่อเนื่องจากวันจันทร์ หลังจากหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ของอิตาลีกำลังเจรจากับเจ้าหน้าที่ของจีน เพื่อขอให้จีนเข้าลงทุนซื้อพันธบัตรของอิตาลีซึ่งมีหนี้สินอยู่ราว 1.9 ล้านล้านยูโร ซึ่งมากกว่าหนี้ของสเปน กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกสรวมกัน นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ที่ประชุมระหว่างผู้นำกรีซ เยอรมนี และฝรั่งเศส จะมีการหารือกันถึงแนวทางการช่วยเหลือกรีซและยับยั้งการลุกลามของหนี้สาธารณะในยุโรป

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการซื้อขายในตลาดยังคงผันผวนเนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป โดยเฉพาะเมื่อนางแองเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าวว่า ยูโรโซนยังไม่มีกลไกรองรับการล้มละลายของประเทศสมาชิก จึงทำให้ยูโรโซนต้องพึ่งพากลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM)

นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยลบจากรายงานของสมาพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติของสหรัฐ (NFIB) ที่ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน เนื่องจากยอดขายปรับตัวลดลงและผู้ประกอบการมีมุมมองที่ค่อนข้างเป็นลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐ

ข้อมูลจากสถาบันอินเวสท์เมนท์ คอมพานีระบุว่า ชาวอเมริกันได้ถอนการลงทุออกจากกองทุนหุ้นในสหรัฐในเดือนส.ค.เป็นวงเงินทั้งสิ้น 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ยังน้อยว่าสถิติ 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการเงินปี 2551

อเล็กซ์ ยัง นักวิเคราะห์จากเอสแอนด์พี อิควิตี้ รีเสิร์ช กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและภาคการเงินทำให้นักลงทุนหันเข้าซื้อหุ้นกลุ่มที่ปลอดภัย รวมถึงหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หุ้นผู้ผลิตสินค้าเพื่อผู้บริโภค และหุ้นกลุ่มสุขภาพ

หุ้นออราเคิล คอร์ป หุ้นอินเทล และแอปเปิล ดีดตัวขึ้นและเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนดัชนี Nasdaq ปิดในแดนบวก ส่วนหุ้นเจนเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี) พุ่งขึ้น 2.6% หุ้นคอมมินส์ อิงค์ ดีดตัวขึ้น 6% อย่างไรก็ตาม หุ้นเบสท์ บาย ร่วงลง 7.9% หลังจากบริษัทเปิดเผยผลประกอบการรายไตรมาสที่น้อยเกินคาด

นักลงทุนจับตาดูการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยวันพุธ กระทรวงแรงงานจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนส.ค., กระทรวงพาณิชย์จะเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือนส.ค. และกระทรวงพาณิชย์จะเปิดเผยตัวเลขสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนก.ค.

วันพฤหัสบดี กระทรวงแรงงานจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนส.ค., กระทรวงแรงงานจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเปิดเผยข้อมูลการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังผลิตเดือนส.ค. ส่วนวันศุกร์ รอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกนจะเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นขั้นต้นเดือนก.ย.ของสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ