(เพิ่มเติม) THAI เผย Cabin factor 8 เดือนเฉลี่ย 72.5%, คาดก.ย.-ธ.ค.ทำได้เกิน 75%

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 16, 2011 16:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอำพน กิตติอำพน ประธานกรรมการ บมจ.การบินไทย (THAI) ระบุว่า ในเดือนส.ค.54 มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยร้อยละ 74.6 สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.3 ขณะที่ปริมาณการผลิตผู้โดยสาร (Available Seat - Kilometer / ASK) สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.5 ส่วนปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Passenger— Kilometer / RPK) สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.7

สำหรับผลการดำเนินงานเดือนม.ค. — ส.ค. 54 บริษัทฯ มีปริมาณการผลิตผู้โดยสาร (ASK) สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.8 และมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.2 มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยร้อยละ 72.5

ในช่วงที่เหลือของปี (ก.ย.-ธ.ค. 54) คาดว่าจะมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เกิน 75% และคาดว่าในไตรมาส 4/54 และทั้งปี 54 การบินไทยจะมีผลกำไรจากการดำเนินงาน

“ปัจจัยสำคัญ คือราคาน้ำมัน และการแข่งขันที่สูง เราต้อง push cabin factor ให้เกิน 75% ขึ้นไป ในช่วง 4 เดือนนี้ เพื่อทำให้ทั้งปีเราเป็นบวก"นายอำพน กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปีนี้หากระดับราคาน้ำมันดิบไม่เกิน 100 เหรียญ/บาร์เรล บริษัทคาดว่าจะสามารถบริหารได้ จากที่บริษัทได้ ทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน ตลอดที่ผ่านมา ในระดับ 15-30% ของปริมาณการใช้น้ำมัน

นายอำพน กล่าวว่า ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ส.ค.) บริษัทมีต้นทุนน้ำมันสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วถึง 35% มีราคาน้ำมันเครื่องบินเฉลี่ย 120 เหรียญ/บาร์เรล บางช่วงปรับขึ้นไปสูงถึง 130 เหรียญ/บาร์เรล

นอกจากนี้ ในปีนี้บริษัทจะมีผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากค่าเงินยูโร อ่อนกว่าเงินบาททำให้หนี้สินเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้อยู่ที่ 42 บาทต่อ 1 ยูโร จากสิ้นปี 53 อยู่ที่ 39-40 บาทต่อ 1 ยูโร

อย่างไรก็ดี บริษัทจะดูแลประสิทธิภาพให้ดีต่อเนื่อง และเพิ่มเที่ยวบินตรงให้มากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับสายการบินอื่น ได้แก่ กรุงเทพ-บรัสเซลส์ , โคเปนเฮเกน — ภูเก็ต เป็นต้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับชั้นประหยัดมากขึ้น เพราะรายได้หลักมาจากการขายตั๋วชั้นประหยัด ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจและเส้นเลือดของการบินไทย

รวมทั้งให้หน่วยธุรกิจทำกำไรเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย ได้แด่ ครัวการบิน ตั้งเป้ามีกำไรในปี 54 จำนวน 500 ล้านบาท ธุรกิจการให้บริการภาคพื้นดิน มีกำไร 800 ล้านบาท เป็นต้น

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติการคัดเลือกสถาบันการเงินผู้จัดหาเงินกู้ระยะยาวให้บริษัทฯ ใน สกุลเงินยูโร เพื่อชำระค่าเครื่องบินแอร์บัส A 330-300 จำนวน 3 ลำ (จากจำนวน 7 ลำ ตามโครงการจัดหาเครื่องบินปี 2553-2557) ด้วยวิธีเช่าซื้อกับ กลุ่มสถาบันการเงินประกอบด้วย กลุ่ม The Hongkong and Shanghai Banking Corporation Limited (HSBC) ร่วมกับ The Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Limited (BTMU) เป็นผู้จัดหาเงินกู้ระยะยาว เพื่อชำระค่าเครื่องบิน A 330-300 จำนวน 2 ลำ กำหนดรับมอบในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ปี 2554 และ กลุ่ม BNP Paribas Corporate & Investment Banking (BNP) ร่วมกับ Sumitomo Mitsui Banking Corporation (SMBC) และ Development Bank of Japan Inc. (DBJ) เป็นผู้จัดหาเงินกู้ระยะยาว เพื่อชำระค่าเครื่องบิน A 330-300 จำนวน 1 ลำ กำหนดรับมอบในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2555

นายอำพน กล่าวต่อว่า รมว.กระทรวงคมนาคม ให้การสนับสนุนการบินไทยในการจัดตั้งสายการบินไทยสมาย ซึ่งจะช่วยให้การบินไทยในการแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำได้ ขณะเดียวกัน คณะกรรมการบริษัทไม่ได้รับรายงานความคืบหน้าของการจัดตั้งสายการบินไทยไทเกอร์ ซึ่งการบินไทยจะร่วมทุนกับสายการบินไทเกอร์จากสิงคโปร์

“สายการบินไทยไทเกอร์ คงหมดความจำเป็น ก็ไม่ต้องต่อสัญญา MOU ที่จะสิ้นสุดลงในเดือนหน้า(ต.ค.) คิดว่าไทยสมายจะดีกว่าไทยไทเกอร์ เราบิน 100% เราก็ได้ 100% ไม่ต้องไปแบ่งกับใคร" นายอำพน กล่าว

นอกจากนี้ ยังระบุว่า ได้รับทราบจากกรรมการ 3 คน ได้แก่ นายสุรชัย ธารสิทธิพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม, นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม, นายชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ อดีตรองปลัดกระทรวงคมนาคม ที่จะขอลาออก เนื่องจากเป็นข้าราชการเกษียณ


แท็ก การบินไทย   (THAI)  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ