"ตรังน้ำมันปาล์ม"เล็งระดมทุนช็อตแรก 100 ลบ.ผ่านตลาด mai สร้างโรงไฟฟ้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 19, 2011 10:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมานิต วงษ์สุรีย์รัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ตรังน้ำมันปาล์ม จำกัด แต่งตัวเตรียมจัดโครงสร้างธุรกิจพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ(mai) เล็งออกหุ้นเพิ่มทุนหาเงินลงทุนส่วนหนึ่งเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวภาพ เฟส 2 และยังมองข้ามช็อตต่อยอดธุรกิจผลิตเมททิลซัลเฟอเนตทดแทนผลผลิตจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นแผนลงทุนขั้นต่อไป คาดรอบแรกระดมทุนราว 100 ล้านบาท มองเวลาเหมาะสมเข้าเทรดในปี 55-56

ตรังน้ำมันปาล์ม มีทุนจดทะเบียน 108 ล้านบาท มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ รับผลปาล์มสดจากเกษตรกรเดือนละ 1.8 แสนตัน จากเต็มกำลังที่ 2.2 แสนตัน มีโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพที่ได้จากการหมักกะลาปาล์มและทะลายปาล์มเปล่าที่เหลือเพื่อนำก๊าซชีวภาพไปใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า ขนาด 2 เมกะวัตต์ที่ทำสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) อีกทั้งมีบริษัทในเครือที่รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบส่วนหนึ่งไปผลิตเป็นไบโอดีเซล และบริษัทรับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกร

นายมานิต กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างหารือกับบล.เคมี ซิมิโก้ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อวางแนวทางการระดมเงินลงทุนส่วนหนึ่งผ่านตลาดหลักทรัพย์ จากเงินลงทุนทั้งหมดที่จะใช้ในการสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 7 เมกะวัตต์ ราว 400 ล้านบาท โดยอาจจะมาจากเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนราว 100 ล้านบาท ที่เหลือมาจากเงินกู้ซึ่งน่าจะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพ(BBL)

ขณะนี้สิ่งสำคัญที่บริษัทต้องเตรียมการคือการจัดโครงสร้างบริษัทไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน โดยจะมีการรวมบริษัทในเครือเข้ามาเป็นบริษัทเดียว ปัจจุบันบริษัทมีรายได้ปีละประมาณ 1,240 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจน้ำมันปาล์มที่มีผลผลิตนำมันปาล์มดิบราว 1.3 แสนตัน/เดือน ซึ่งผลผลิอตราว 4-5 หมื่นตันนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซล มีเพียง 40 ล้านบาทมาจากรายได้การขายกระแสไฟฟ้า

"ตอนนี้รายได้จากการขายไฟฟ้ายังไม่มาก แต่ถ้าเราลงทุนเพิ่มอีก 7 เมกฯ รายได้จะเข้ามาอีกปีละ 140 ล้านบาท ตอนนี้เราผลิตก๊าซชีวภาพได้ราว 13,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตนำมาผลิตไฟฟ้าป้อนให้สำนักงานในโรงงานช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าจากที่ต้องจ่ายเดือนละ 1.5 ล้านบาท ตอนนี้กำลังหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม"นายมานิต กล่าว

ส่วนโครงการขยายการลงทุนผลิตสารเมททิลซัลฟอร์เนตจากน้ำมันปาล์มดิบแทนปิโตรเคมี ซึ่งปัจจุบันไทยต้องนำเข้าสารดังกล่าวจากต่างประเทศมาใช้ในอุตสาหกรรมของใช้ส่วนตัว เช่น สบู่ แชมพู เป็นต้น คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนราว 500 ล้านบาท รวมถึงการซื้อเทคโนโลยีจากอินเดีย โดยอาจจะแตกเป็นบริษัทย่อยออกไป

นายมานิต กล่าวว่า หากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเกิดขึ้นในปี 58 จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม เนื่องจากข้อตกลงเขตเสรีทางการค้าจะทำให้บริษัทสามารถส่งผลผลิตไปป้อนให้กับโรงงานในมาเลเซียได้ในช่วงที่ราคาปาล์มและน้ำมันปาล์มดิบในประเทศตกต่ำ เพราะต้นทุนค่าขนส่งต่ำกว่าการส่งมายังโรงกลั่นน้ำมันปาล์มที่ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ