(เพิ่มเติม) BBL มั่นใจปี 54 สินเชื่อโตกว่าเป้า 6-8%แม้ลดGDP,ปีหน้าวางแผนใหญ่รับAEC

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 19, 2011 13:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เชื่อว่าการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในปีนี้มีโอกาสเติบโตได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 6-8% ได้ไม่ยาก แม้ว่าจะปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปี 54 ลงมาเหลือ 3.6% จากเดิมที่เคยมองไว้ที่ 4% เนื่องจากช่วงไตรมาส 2/54 ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่น ทำให้ GDP ไตรมาส 2/54 ขยายตัวชะลอลงเหลือ 2.6% ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

อนึ่ง 8 เดือนแรกของปีนี้สินเชื่อของธนาคารขยายตัวแล้วประมาณ 8%

จากแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจของไทยในภาพรวมที่มีความแข็งแรง เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/54 และไตรมาส 4/54 มีกำลังส่งที่ดี แต่ก็ยังต้องระวังเหตุการณ์ในต่างประเทศที่อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ธนาคารจับตาอยู่ เช่นเดียวกับนโยบายของรัฐบาลที่ส่วนใหญ่ยังไม่ชัดเจนในภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะการใช้จ่ายภายใต้งบขาดดุล 3.5 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 55 ขณะที่ปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ก็มีความรุนแรงมากกว่าปีก่อน แต่ธนาคารพร้อมจะให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศที่เน้นไปที่การใช้จ่าย หากมีผลกระทบต่อการออมในขณะที่สินเชื่อขยายตัวได้ดี อาจจะทำให้การแข่งขันชิงเงินฝากของระบบสถาบันการเงินมีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในขณะนี้ธนาคารรัฐได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่ง BBL ตั้งเป้าเงินฝากขยายตัว 6% ในปีนี้หรือคิดเป็นเม็ดเงินราว 7-8 หมื่นล้านบาท เพื่อดูแลสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากให้มีความเหมาะสม แต่ก็ยอมรับว่าครึ่งปีหลังมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นที่จะทำให้ NIM ลดลงจากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 2.6%

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร BBL กล่าวว่า เป้าหมายสินเชื่อในปีนี้เติบโต 6-8% หรือคิดเป็นเม็ดเงินราว 8 หมื่นล้านบาท ไม่ใช่เรื่องที่น่าหนักใจ เพราะขณะนี้สินเชื่อของธนาคารเติบโตได้สูงกว่านั้นแล้ว ขณะนี้จึงต้องหันมาดูแลสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก(Loan to Deposit ratio)ให้เพียงพอกับการเติบโตของสินเชื่อ

"ปีนี้เรา maintain เป้าสินเชื่อไม่เกิน 8% ภาคธุรกิจยังขยายตัวเพิ่มเติมได้ ช่วงที่ผ่านมาสินเชื่อรายใหญ่ รายกลาง บุคคลขยายตัวทุกประเภท ตอนนี้เราต้องดูแลที่จะต้องมีเงินฝากให้เพียงพอกับการทำงานของเรา"นายโฆสิต กล่าว

ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างรอดูความชัดเจนของปัจจัยภายในประเทศไปพร้อมกับการติดตามสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายภาครัฐที่อยู่ระหว่างการตบแต่งมาตรการต่าง ๆ ที่ได้ประกาศหลักการออกมา ทั้งการแทรกแซงตลาดและการกระจายสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมทั้งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายตามนโยบายที่วางไว้ เป้าหมายของการใช้จ่ายภายใต้งบขาดดุล 3.5 แสนล้านบาท และผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่มีความรุนแรง

"ใช้จ่ายเยอะไม่มีปัญหาถ้าไม่ได้ทำติดต่อกันนาน แต่เมื่อไหร่ที่เข้าไปจัดการกับกลไกตลาด มันมีผลข้างเคียงอยู่แล้ว ตอนนี้ยังไม่รู้หน้าตารายละเอียด แต่เศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่น่าห่วงเพราะปัจจัยภายในยังดีอยู่ แม้ว่าช่วงไตรมาส 2 จะเสียวลาไปบ้าง แต่ตอนนี้รถยนต์เดินหน้าเต็มที่...น้ำท่วมก็ยังต้องรอดู ระยะหลังปัจจัยจากภัยธรรมชาติมีความสำคัญ ปีนี้แรงขึ้น อาจจะมากกว่าปีก่อน ๆ"นายโฆสิต กล่าว

นายโฆสิต ยอมรับว่าเป็นห่วงมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐที่ระบุว่าจะเน้นการใช้จ่ายในประเทศ เพราะหากเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ได้ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศสูงขึ้น และมีผลกระทบต่อการออมของประเทศก็จะทำให้มีปัญหามาก เพราะขณะนี้อัตราการออมค่อนข้างต่ำกว่าระดับเหมาะสมที่ควรอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 25% แล้วยิ่งหากรายได้ของภาครัฐไม่ทันกับภาระหนี้ที่ก่อก็จะเกิดผลกระทบมาก

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ BBL กล่าวว่า ขณะนี้สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารไม่รวมตั๋วแลกเงิน(BE) อยู่ที่ประมาณ 90% ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(NIM)ในขณะนี้อยู่ที่ 2.6% ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 2.7-2.8% เนื่องจากการแข่งขันด้านเงินฝากที่รุนแรงขึ้น ซึ่งธนาคารจะพยายามรักษาระดับสัดส่วนทั้งสองประเภทไว้ แม้จะยอมรับว่าครึ่งปีหลังแรงกดดันที่จะทำให้ NIM ลดลงมีเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนในปีหน้า ธนาคารมีเป้าหมายจะเติบโตไปในระดับใกล้เคียงกับ GDP ที่คาดว่าจะขยายตัวในระดับ 4% ซึ่งถือว่าเข้าสู่ระดับปกติ พร้อมกันนั้นจะมีการวางแผนงานใหญ่ที่จะเตรียมพร้อมรับมือกับการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ในปี 58 โดยเฉพาะความสามารถของสาขาต่างประเทศและบุคลากร แต่ก็จะยังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจในประเทศพร้อมกันไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ธนาคารจะให้ความสำคัญมากขึ้นหลังจากมีความชัดเจนในการวางบุคลิกของธนาคารในส่วนดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้

นายโฆสิต กล่าวว่า เราเห็นมานานแล้วว่าเสาหลักเศรษฐกิจโลกจะหันมาสู่เอเชีย เพราะเศรษฐกิจมีความเข้มแข็ง ปีหน้าแผนงานใหญ่ของธนาคารคือการเตรียมพร้อมรับมือ AEC ด้วยการขยายความสามารถของสาขาในต่างประเทศให้มีขอบเขตการทำงานมากขึ้น มีบุคลากรที่มีความสามารถ มีทุนเพียงพอ ซึ่งสาขาในอาเซียนจะต้องสามารถสนับสนุนและให้ข้อมูลสำหรับนักธุรกิจในประเทศนั้น ๆที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และนักธุรกิจไทยที่ต้องการออกไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียน

"ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเรามองว่ามีความสำคัญสูง ซึ่งจะทำให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เรามีโครงข่ายสาขาในอาเซียนที่ดีอยู่แล้ว แต่ต้องปรับปรุงสถานที่ เตรียมบุคลากรให้พร้อมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก"นายโฆสิต กล่าว

ปัจจุบัน ธนาคารมีสาขาต่างประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย 5 สาขา เวียดนาม 2 สาขา อินโดนีเซียกำลังเปิดสาขาที่ 2 ที่เมืองสุราบายา ลาว 1 สาขา ฟิลิปปินส์ 1 สาขา สิงคโปร์ 1 สาขา นอกจากนั้น ยังมีสาขาในไต้หวัน 3 สาขา ฮ่องกง 2 สาขา จีน 4 สาขา ญี่ปุ่น 2 สาขา รวมทั้งลอนดอนและนิวยอร์ก ส่วนในพม่าเป็นสำนักงานตัวแทน

ขณะที่การบริการในประเทศนั้น นายโฆสิต กล่าวว่า รายย่อยถือเป็นส่วนสำคัญที่ธนาคารกำลังหาพยายามหาบุคลิดที่เหมาะสมในการเดินต่อไป เพื่อให้มีความมั่นใจดีขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งภายในปีนี้จะต้องมึความชัดเจนในเรื่องการขยายลูกค้ารายย่อยออกมา เพราะในด้านรายใหญ่ ธนาคารสามารถดูแลได้ดีอยู่แล้ว เพราะเรามีความใกล้ชิดกับลูกค้า

นายเดชา ตุลานันท์ รองประธานกรรมการบริหาร BBL กล่าวว่า เรามีการติดตามดูแลลูกค้ารายใหญ่ตามความจำเป็นในแต่ละธุรกิจ ซึ่งในระยะต่อไปอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอิเลคทรอนิกส์จะมีบทบาทมากขึ้นในประเทศไทย คาดว่าส่วนใหญ่การลงทุนจะใช้เงินค่อนข้างมากในระยะต่อไป เพื่อปรับปรุงเครื่องจักร ประสิทธิภาพการผลิต ขยายโรงงาน และซื้อกิจการ ขณะที่สินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกนั้น BBL มีส่วนแบ่งการตลาดสูงเป็นอันดับหนึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ