ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย(CIMBT) ระบุว่าช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้สินเชื่อเติบโตแล้ว 15% ดังนั้น ทั้งปีนี้น่าจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 20% ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ยังจะคงรักษาไว้ไม่ให้เกินระดับ 3% ในปัจจุบัน และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(NIM)ในปึนี้คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 3.4-3.5%
ธนาคารมองว่านโยบายของรัฐบาลที่กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ซี่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งจะสามารถรองรับปัญหาเศรษฐกิจโลกได้ เนื่องจากมองว่าการชะลอตัวของอัตราการขยบายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย แต่ GDP ในปีนี้ก็เชื่อว่ายังคงเติยโต 3.5-4.0% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)คงจะตรึงไปจนถึงปลายปี้
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CIMBT กล่าวว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ สินเชื่อของธนาคารเติบโต 15% ซึ่งสูงกว่าระบบธนาคารพาณิชย์ที่สินเชื่อเติบโตประมาณ 10% และทั้งปีน่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 20% โดยในช่วงครึ่งปีหลังจะเน้นการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ และสินเชื่อเอสเอ็มอี ในขณะที่สินเชื่อรายย่อยประเภทสินเชื่อเคหะชะลอตัวลงบ้าง แต่จากการที่รัฐบาลออกมาตรการภาษีบ้านหลังแรก น่าจะช่วยกระตุ้นยอดสินเชื่อเคหะเพิ่มขึ้น
ขณะที่ NPL จะควบคุมให้อยู่ระดับไม่เกิน 3% ในสิ้นปีนี้ และ NIM อยู่ที่ 3.4-3.5% แม้สภาพคล่องในระบบจะเริ่มลดลงจากผลของการแข่งขันด้านสินเชื่อ และอีกด้านทำให้ต้องมีการแข่งขันระดมเงินฝากโดยการเสนอดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันในระบบธนาคารพาณิชย์พบว่าสินเชื่อขยายตัวเร็วมากกว่าเงินฝาก ทำให้สภาพคล่องลดลง
"ดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อดอกเบี้ยในตลาด แต่ขณะเดียวกันขึ้นอยู่กับความต้องการสินเชื่อด้วย ซึ่งที่ผ่านมาสินเชื่อในระบบโตเร็วมาก โตมากกว่าเงินฝาก ทำให้สภาพคล่องลดลง ทำให้ต้องแข่งขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งหากให้สินเชื่อโตใกล้เคียงเงินฝาก ก็ไม่น่ามีผลต่อดอกเบี้ยในตลาดมาก NIM ก็จะไม่ลดลง ตอนนี้ของแบงก์ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ 85-90%" นายสุภัค กล่าว
อย่างไรก็ตาม มองว่าหลัง กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งล่าสุดอีก 0.25% มาอยู่ที่ 3.50% และน่าจะตรึงในระดับนี้ต่อไปจนถึงสิ้นปี 54 เพราะที่ผ่านมา ธปท.มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยมาพอสมควรแล้วเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และควรที่จะรอดูผลของการขึ้นดอกเบี้ย เพราะการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแต่ละครั้งกว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน