แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และประชาชนซึ่งได้ผลกระทบจากการกระจายหุ้นของ บมจ.ปตท.(PTT) ได้ยื่นฟ้อง บมจ.ปตท.และกระทรวงการคลังต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนใบหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย, ขอให้สั่งริบหุ้นในโรงกลั่นน้ำมันจำนวน 4 โรงที่ ปตท.ถือครองตกเป็นของแผ่นดิน และขอให้สั่งกระทรวงการคลังดำเนินการทวงคืนสาธารณะสมบัติอันได้มาจากอำนาจตามกฎหมายมหาชน คือ โรงกลั่น ท่อส่งก๊าซ และอุปกรณ์ ส่วนที่ยังไม่ได้คืนทั้งบนบกและในทะเล รวมทั้งเงินค่าใช้บริการท่อส่งก๊าซ และดอกผลอันเกิดจากการใช้ท่อส่งก๊าซทั้งหมดให้ตกเป็นของแผ่นดิน
นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า การยื่นฟ้องครั้งนี้เป็นการกระทำตามจุดยืนของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งชุมนุมนาน 193 วันว่า ปตท.เป็นสมบัติของชาติ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการที่ ปตท.ระบุว่าปีนี้มีกำไร 1.3 แสนล้านบาท หาก ปตท.ยังเป็นของรัฐวิสาหกิจเช่นเดิมก็สามารถเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้พัฒนาสาธารณูปโภคด้านการขนส่งมวลชนได้ทั้งประเทศ แต่วันนี้เงินจำนวนดังกล่าวกลับไปตกไปเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นที่เป็นนอมินีของนักการเมือง ดังนั้น การที่ประเทศต้องเสียประโยชน์เหล่านี้ก็มาจากการแปรรูป ปตท.ที่ไม่เป็นธรรม และไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ขณะที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ อีกคน กล่าวว่า การกระจายหุ้น ปตท.ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน เรียกได้ว่าเป็นการขายของที่หมดเร็วติดอันดับโลก เพราะหุ้นจำนวนหลายร้อยล้านหุ้นสามารถขายหมดเพียงภายในเวลานาทีเศษ แสดงให้เห็นว่ามีการเตรียมการล่วงหน้า คนซื้อต้องเป็นคนที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ถึงจะได้ ประชาชนตาดำๆ ไปยื่นต่อแถวกันตั้งแต่ก่อนเปิดการซื้อ-ขาย ไม่มีใครได้สักราย
ด้านนายสุวัฒน์ อภัยภักดิ์ ทนายความผู้รับมอบอำนาจ กล่าวว่า การฟ้องครั้งนี้ไม่ได้ต้องการเอา ปตท.มาเป็นสมบัติของกลุ่มพันธมิตรฯ แต่ต้องการให้กลับมาเป็นของประชาชน เวลานี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ลดลง รัฐก็ไม่มีการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมัน แต่ ปตท.กลับไม่ลดราคาขายปลีกน้ำมัน แถมยังขึ้นราคาด้วย
ที่ผ่านมากลุ่มพันธมิตรฯ พยายามจะสืบค้นข้อมูลการเกี่ยวกับการขายหุ้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจนพบว่ามีการขายหุ้นจำนวนกว่า 900 ล้านหุ้นไม่เป็นไปตามหนังสือชี้ชวนที่กำหนดให้ผู้ที่ต้องการซื้อหุ้นมาซื้อหุ้นได้ตั้งแต่เวลา 09.30 น.ของวันที่ 15 พ.ย.44 แต่ปรากฏว่าประชาชนที่มาร่วมฟ้องในครั้งนี้ไปแสดงตนก่อนเวลาดังกล่าวกลับได้รับคำตอบเมื่อถึงเวลาเปิดซื้อขายว่าหุ้นหมดไปแล้ว เมื่อไปสืบค้นข้อมูลทำให้พบว่า 863 ราย ซึ่งได้ถือหุ้นที่มีการเปิดขายนั้นล้วนแต่เป็นญาติของนักการเมืองทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการออกใบจองหุ้นให้แก่ผู้จองซื้อหุ้นมากกว่า 1 ใบจองรวม 428 ราย ซึ่งการกระทำนี้เป็นการร่วมกับธนาคารร่วมกันโกงประชาชนจึงถือว่าการซื้อขายนั้นไม่ชอบ อีกทั้งพบว่า คณะกรรมการของ ปตท.ได้มีการอนุมัติให้ขายหุ้นราคาพาร์จำนวน 25 ล้านหุ้นในราคา 10 บาทให้กับผู้มีอุปการะคุณ ซึ่งผู้มีอุปการะคุณเหล่านี้เมื่อไปตรวจสอบก็พบว่าเป็นนักการเมือง, ส.ว., ส.ส., ผู้พิพากษา, อัยการ, ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จึงอยากทราบว่าคณะกรรมการฯ ใช้อำนาจอะไรในการอนุมัติ
และการกำหนดให้จำหน่ายหุ้นสามัญจำนวน 320 ล้านหุ้นแก่นิติบุคคลต่างประเทศ ซึ่งอยู่ในฐานะนอมินีที่ดูแลทรัพย์สินของผู้อื่น จึงเป็นการจำหน่ายหุ้นให้แก่บุคคลในรัฐบาลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และขัดต่อกฎหมาย ป.ป.ช. เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ จึงถือว่าขัดต่อกฎหมายเป็นโมฆะ เพราะเป็นการขายที่ไม่โปร่งใสเป็นธรรม สมควรที่ศาลจะสั่งเพิกถอนให้การซื้อขายหุ้นทั้งหมดของ ปตท.เป็นโมฆะและคืนให้ตกเป็นของแผ่นดิน
นายปานเทพ วงศ์พัวพันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า แม้ก่อนหน้านี้ศาลปกครองสูงสุดจะเคยมีคำพิพากษาในเรื่องของการแปรรูป ปตท. แต่ในขณะนั้นเป็นการฟ้องว่า พ.ร.บ.แปรรูปฯ พ.ศ.2544 และศาลมีคำสั่งให้รัฐแบ่งแยกทรัพย์สินสาธารณะสมบัติ สิทธิ การใช้ที่ดิน เพื่อวางระบบท่อก๊าซ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ ปตท. แต่การฟ้องของกลุ่มพันธมิตรฯ ครั้งนี้เป็นคนละประเด็น ข้อมูลที่นำเสนอจะมีการเน้นว่าวิธีการที่มีการกระจายหุ้นผิดจากหนังสือชี้ชวน
"ถือว่าเป็นการต่อยอดจากคดีเก่าที่ศาลเคยมีคำพิพากษาไปแล้ว ไม่ใช่ต้องไปรื้อและไม่ได้เป็นการให้ศาลกลับคำพิพากษาที่เคยมี เพียงแต่เราต้องการให้ศาลไปดูในเรื่องของการกระจายหุ้นที่เห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย" นายปานเทพ กล่าว