(เพิ่มเติม) AFET คาดปี 55 ดันสินค้าใหม่เข้าเทรดอีก 2 ตัว หนึ่งในนั้นเป็นน้ำยางข้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 23, 2011 14:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาท เกศวพิทักษ์ ประธานกรรมการ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศ (AFET) เตรียมเสนอกระทรวงพาณิชย์ให้มีการจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องให้กับตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าก่อน 7 ต.ค.นี้ ซึ่งนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จะดูว่ารัฐบาลจะสามารถช่วยเหลืองบประมาณในส่วนใดได้บ้าง

สำหรับแผนงานอื่นๆนั้น ประธานกรรมการ AFET กล่าวว่า ในปี 55 มีแผนจะนำสินค้าใหม่ 2 ชนิดเข้ามาซื้อขายในตลาดล่วงหน้า ซึ่งหนึ่งในนั้นคือน้ำยางข้น ส่วนอีกตัวกำลังศึกษาอยู่ ส่วนในปีนี้มีแผนจะนำ ยางแท่ง STR20 เข้ามาซื้อขายในวันที่ 28 ต.ค.นี้ นอกจากนี้ กำลังศึกษาสินค้าตัวอื่น เช่น ปาล์มน้ำมัน สับปะรด น้ำตาล เอทานอล โดยเฉพาะน้ำตาลอยากให้เกิดขึ้นมากเนื่องจากบรรดาประเทศที่มีการซื้อขายน้ำตาลในแถบเอเซียมักจะใช้ราคาอ้างอิงของไทย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบายอ้อยและน้ำตาลด้วยว่าจะเห็นด้วยกับแนวคิดที่จะนำสินค้าน้ำตาลเข้ามาเทรดในตลาดล่วงหน้าหรือไม่

ส่วนสับปะรด ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการในวงการเสนอแนะให้มีการนำเข้ามาซื้อขายในตลาดล่วงหน้า เนื่องจากก่อนหน้านี้ฮาวายเป็นผู้ส่งออกสับปะรดอันดับต้นๆ แต่ตอนนี้มีปัญหาต้นทุนสูงขึ้น พอไทยเข้าไปขาย Dump ราคาทำให้เกิดปัญหา แต่หากเรามีราคาอ้างอิงน่าจะลดปัญหานี้ลงไปได้

ส่วนปาล์มน้ำมันยังมีปัญหาเรื่องการเป็นสินค้าควบคุมราคา อาจจะทำให้ไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนหากนำเข้ามาเทรด

นายประสาท กล่าวถึงผลการดำเนินงานในรอบ 7 เดือนของปีนี้ ภาพรวมการค้าและมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยมีการขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นสูง 53.8% และสำหรับรายสินค้าที่มีการซื้อขายใน AFET เพิ่มสูงขึ้นมาก ข้าว ยาง มันสำปะหลัง เพิ่มสูง 110%, 69.3% และ 47.4% ตามลำดับ สำหรับนโยบายรัฐบาลในปีนี้ที่จะมีการรับจำนำข้าว จำนวนทั้งสิ้น 25 ล้านตัน และมีนโยบายในการระบายข้าวผ่านกลไก AFET นั้น AFET ได้กำหนดแผนงานอย่างเร่งด่วนเพื่อรองรับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 7 ตุลาคม 2554 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเบื้องต้นตลาด AFET พร้อมจะเปิดรับการซื้อขายจากโครงการรับจำนำข้าวผ่านตลาด AFET จำนวนทั้งสิ้น 5 แสนตันต่อเดือน โดยราคาที่ซื้อขายกันในตลาด AFET จะขึ้นอยู่กับดีมานด์และซัพพลายในขณะนั้น

"เราไม่รู้ว่าทางรัฐบาลจะระบายข้าวผ่าน AFET จะมีจำนวนเท่าไหร่ แต่เราสามารถรองรับได้ 5 แสนตัน และถ้าโบรกเกอร์ AFET สามารถรับการซื้อขายผ่านตลาด AFET เป็นจำนวนมากได้ ในอนาคตภาพรวมของตลาด AFET อาจจะรับจำนำข้าวได้มากกว่า 5 แสนตันต่อเดือน และสูงสุดถึง 1 ล้านตันต่อเดือน"นายประสาท กล่าว

ที่ผ่านมา AFET มีบทบาทสำคัญในการยกระดับราคาสินค้าให้เหมาะสม และเป็นศูนย์กลางการซื้อขายสินค้าเกษตรและแหล่งอ้างอิงราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาค ทำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องสามารถนำราคาดังกล่าวไปใช้อ้างอิงและปรับโครงสร้างการผลิต ให้เป็นไปตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้ราคาในตลาดมีเสถียรภาพ ดังจะเห็นได้จากราคาในตลาดล่วงหน้าในญี่ปุ่น (TOCOM) และตลาดล่วงหน้าในสิงค์โปร์ (SICOM) ในช่วงเช้าก่อนที่ AFET จะเปิดการซื้อขาย ราคาทั้ง 2 ตลาดจะค่อนข้างต่ำ และเมื่อ AFET เปิดทำการซื้อขาย ราคา TOCOM และ SICOM จะปรับตัวขนานกับ AFET ซึ่งผลจากการยกระดับราคาสินค้าจะทำให้เกิดประโยชน์ในทางมูลค่ามหาศาล เช่น ราคายางที่ขยับราคาสูงขึ้น เพียงกิโลกรัมละ 1 บาท กับปริมาณการส่งออกมากถึง 3 ล้านตัน ก็จะส่งผลมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะสะท้อนกลับสู่เกษตรกรซึ่งเป็นฐานรากของประเทศในที่สุด ในขณะเดียวกันถ้าเรามีการซื้อขายมันสำปะหลัง (ปริมาณการผลิตมันสำปะหลัง 27 ล้านตัน และข้าว (ปริมาณการผลิตข้าว 25 ล้านตัน) ได้เหมือนเช่นเดียวกับสินค้ายาง โดยหากยกระดับราคาได้จริงเพียง 50 สตางค์/กก. ก็จะทำให้รายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นถึง 27,500 ล้านบาท/ปี

นอกจากนี้รัฐบาลได้ดำเนินการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล ผ่านกลไกการซื้อขายล่วงหน้าของ AFET ในช่วงปี 2550 และ 2552 จำนวน 700,000 ตัน ซึ่งถือเป็นการซื้อขายที่โปร่งใส เป็นธรรม และเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องกับสินค้าข้าวทุกประเภทและทุกระดับสามารถเข้ามาแข่งขันกันกำหนดราคาได้ จากผลการดำเนินการดังกล่าวปรากฎว่า ราคาซื้อขายข้าวใน AFET มีราคาสูงกว่าราคาในตลาดข้าวปกติประมาณ 2.48% คิดเป็นมูลค่าข้าวที่เพิ่มขึ้น 134 ล้านบาทโดยประมาณ

"เป็นที่น่ายินดีที่ภาครัฐและองค์กรผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหลายฝ่ายต่างตอบรับและให้ข้อเสนอแนะให้มีการใช้กลไกการซื้อขายและส่งมอบสินค้าของ AFET เข้ามาสานต่อนโยบายรัฐบาลในเรื่องดังกล่าว โดยเน้นถึงความโปร่งใส ความเป็นธรรม และความเชื่อมั่น กลไกการซื้อขายการชำระราคาและส่งมอบที่รองรับที่มีมาตรฐานเป็นที่เชื่อถือได้ของผู้เกี่ยวข้องกับสินค้า ซึ่งสอดคล้องกับแนวยุทธศาสตร์ของ AFET เองที่เน้นในเรื่องยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหาร หรือ Food Security และให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรและอาหารของภูมิภาคอย่างแท้จริง" นายประสาท กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ