นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ราคาหุ้น บจ.ขนาดใหญ่หลายบริษัทปรับลดลงตามภาวะตลาดโดยรวม ซึ่งเป็นไปตามการเคลื่อนย้ายของเงินทุน (Fund Flow) โดยส่วนหนึ่งมากจากองทุนที่ต้องรักษาสภาพคล่องไว้ให้มากที่สุดในสภาวะเช่นนี้ ดังนั้น จึงเห็นด้วยกับแนวคิดของสภาธุรกิจตลาดทุนไทยที่จะเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนวายุภักษ์เพื่อเข้าลงทุนในบริษัทที่มีพื้นฐานดี
"ถ้ารัฐบาลทำได้ก็จะดี เพราะว่า ตลาดผันผวนเกินไป ทั้งที่จำนวนที่ต่างชาติถือไม่ได้มาก แต่เป็นการขายกระจุกตัวเพียงไม่กี่วันและเป็นการขายอย่างต่อเนื่อง จึงดูว่าเป็นการขายหุ้นออกไปเยอะมาก หลายครั้งที่มีกองทุนขึ้นมาในช่วงภาวะวิกฤติอย่างนี้ ก็ช่วยให้ภาวะของตลาดมีเสถียรภาพมากขึ้น ความมั่นใจของผู้ลงทุนที่เป็นรายย่อยก็จะเพิ่มขึ้นมาก ฉะนั้นก็คิดว่า (การตั้งกองทุน) น่าจะดีกว่า"นายชนินท์ กล่าว
นายชนินท์ คาดว่าวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนในไทยไม่มาก และน้อยกว่าวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 40 เนื่องจากผู้บริหารแต่ละบริษัทได้มีการเตรียมตัวรับมืออยู่แล้วจากการสำรวจความคิดเห็นในช่วงก่อนหน้านี้มองว่าปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกกับการเมืองเป็นปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจและธุรกิจ
รวมทั้งหนี้สินจากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนของไทยอยู่ในระดับค่อนช้างต่ำ เฉลี่ยอยู่ที่ 1 เท่า และตลาดส่งออกของไทยได้เปลี่ยนมาตลาดเอเชียมากขึ้น จากตัวเลขส่งออกในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาก็ยังมีการเติบโตกว่า 30%
"โดยรวมผลกระทบยอดขายก็น่าจะมีบ้าง กระแสเงินสดจะน้อยลง...คิดว่า(บจ.) ไม่น่าจะกระทบมากเหมือนปี 97 ผลกระทบเบาบางกว่ามาก ดีไม่ดีบางบริษัทอาจจะมียอดขายดีขึ้นด้วยซ้ำ"นายชนินท์ กล่าว
นอกจากนี้ คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คงมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อยลงแล้ว ในภาวะเศรษฐกิจโลกเกิดปัญหาเช่นนี้ เชื่อว่าภาวะเงินเฟ้อคงจะชะลอตัว