สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เสนอ 7 ข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย เพื่อช่วยเร่งสร้างภูมิคุ้มกันและสนัสนุนให้เศรษฐกิจไทยและตลาดทุนไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ ประกอบด้ว เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนลักษณะเดียวกับกองทุนวายุภักษ์ เพื่อเข้าลงทุนในบริษัทที่มีพื้นฐานดี ส่วนเงินกองทุนส่วนหนึ่งให้มาจากการลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของภาครัฐในรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งถ้าสามารถลดสัดส่วนการถือครองหุ้นเหล่านี้ของภาครัฐให้ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง จะช่วยทำให้ตลาดทุนไทยมีศักยภาพและธรรมมาภิบาลที่เข้มแข็งขึ้นอีกด้วย
รวมถึงของให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทบทวนนโยบายการเงินและถ้าสามารถชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงนี้ออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์และทิศทางเศรษฐกิจโลกมีความชัดเจนมากขึ้น
นอกจากนี้ สภาฯ หวังว่ารัฐบาลจะรักษาวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้การขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะเพิ่มมากหรือเร็วจนเกินไป
พร้อมทั้งขอเสนอให้รัฐบาลมีการทบทวนนโยบายต่างๆ ที่ได้ประกาศไปในช่วงก่อนการเลือกตั้งและให้มีการปรับปรุงหรือเรียงลำดับความสำคัญใหม่ เพื่อให้สามารถรองรับกับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจกระทบมาถึงประเทศไทย
"จากการที่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงสูงขึ้นมากกว่าเมื่อช่วง 5-6 เดือนที่แล้วซึ่งเป็นช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง จึงมีความเป็นไปได้ว่านโยบายเศรษฐกิจที่ประกาศโดยพรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งพรรคเพื่อไทยในช่วงเวลานั้น บางนโยบายอาจไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ซึ่งกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบสอง"
นอกจากนี้ เสนอให้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และเสนอให้รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินนโยบายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เนื่องจากมองว่าหากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงนี้ อาจทำให้ผู้ประกอบการอาจเลือกลดต้นทุนการผลิตด้วยการปลดคนงาน
แต่สภาฯ สนับสนุนนโยบายลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 20% ซึ่งจะเป็นการช่วยลดภาระต้นทุนและ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับ ASEAN Economic Community (AEC)
"ภาวะเศรษฐกิจซบเซาในยุโรป อันเนื่องมาจากปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะ น่าจะเป็นบทเรียนและข้อเตือนใจในการดำเนินนโยบายทางการคลังของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ได้เป็นอย่างดี...ปัญหาทุจริตเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่อยู่กับสังคมไทยมานานและส่งผลกระทบทางลบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย สภาฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะดำเนินนโยบายต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้"
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย มองว่า แรงขายในตลาดหุ้นไทยวันนี้เป็นการตื่นตระหนกขายแบบตกใจมากกว่า แต่ไม่ได้ดูพื้นฐานของประเทศ นักลงทุนอาจจะมองว่าที่ผ่านมาหุ้นไทยก็ยังลงไม่เยอะ วันนี้ลงแค่ 8% ถือว่าน้อยถ้าเทียบกับอียูที่ก่อนหน้านี้ลงไปแล้ว 30% ฮ่องกงก่อนหน้าลงไป 25% ของไทยก็อาจจะลงได้อีก คือลงเพราะเทียบเปอร์เซนต์กับต่างประเทศ แต่ไม่ได้ดูพื้นฐาน
แต่แนวโน้มตลาดหุ้นไทยยังแข็งแกร่งกว่า 2-3 ปีที่แล้วช่วงเจอวิกฤติซับไพร์ม เนื่องจากนโยบายภาครัฐทั้งเรื่องระดับการขาดดุลงบประมาณ หนี้สาธารณะทั้งของรัฐบาลและหนี้ภาคเอกชนอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก ดังนั้น ในแง่ความสามารถในการรับวิกฤติรอบนี้น่าจะมีความพร้อมมากกว่า
อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาดหุ้นทั่วโลกยังผันผวนจนกว่าสหภาพยุโรป(อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) จะมีมาตรการแบบเบ็ดเสร็จออกมา ถ้าระหว่างรอนี้แล้วยังไม่มาตรการดังกล่าวออกมาตลาดหุ้นก็ยังผันผวนอยู่
"ตลาดทุนโลกมีแนวโน้มที่จะยังคงเผชิญกับภาวะความผันผวนที่รุนแรงไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากนักลงทุนยังคงขาดความเชื่อมั่นในมาตราการแก้ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มยูโรโซน ซึ่งที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหามักจะอยู่ในรูปแบบของการซื้อเวลา หรือ การแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้ามากกว่าที่จะเป็นการออกมาตรการแบบเบ็ดเสร็จที่จะสามารถทำให้วิกฤตจบลงได้ การที่วิกฤตยังคงลุกลามไปยังสเปนและอิตาลี สองประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งกว่า กรีซ โปรตุเกส และไอร์แลนด์ รวมไปถึงวิกฤตศรัทธา (Crisis of Confidence) ที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดทุนโลก เป็นการตอกย้ำถึงความล้มเหลวของมาตราการในช่วงที่ผ่านมา"