บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ. บ้านปู (BANPU) ที่ระดับ “AA-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนความเป็นผู้นำในตลาดถ่านหินในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนความหลากหลายของแหล่งถ่านหินและฐานลูกค้า รวมถึงรายได้เงินปันผลที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้า ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงแผนการซื้อหุ้น 100% ใน Hunnu Coal Limited (Hunnu) ด้วย
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลีย ตลอดจนแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความต้องการถ่านหินและราคาถ่านหินยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิตของบริษัท แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทบ้านปูจะยังคงรักษาสถานะทางการเงินที่เหมาะสมในช่วงการลงทุนระหว่างปี 2554-2556 ทั้งนี้ เงินปันผลที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจถ่านหินที่มีความท้าทายมากขึ้นในอนาคต ทริสเรทติ้งรายงานว่า BANPU เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานรายใหญ่ในเอเชียซึ่งก่อตั้งในปี 2526 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตถ่านหินในประเทศไทย บริษัทขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยปัจจุบันมีแหล่งถ่านหินอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย จีน และออสเตรเลีย นอกจากนี้ ยังขยายการลงทุนสู่ธุรกิจไฟฟ้าทั้งในประเทศไทยและจีนด้วย
ธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียยังคงเป็นแหล่งสร้างกำไรหลักของบริษัท โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 กำไรจากธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียมีสัดส่วน 62% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) กำไรจากธุรกิจในประเทศออสเตรเลียคิดเป็น 27% ของ EBITDA ส่วนกำไรจากธุรกิจในประเทศไทยและจีนคิดเป็นสัดส่วน 9% และ 2% ของ EBITDA ตามลำดับ เมื่อพิจารณาในด้านของประเภทธุรกิจ กำไรจากธุรกิจถ่านหินคิดเป็นสัดส่วน 91% ของ EBITDA ในขณะที่กำไรส่วนที่เหลือซึ่งมาจากธุรกิจไฟฟ้ามีสัดส่วน 9% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ปริมาณการผลิตถ่านหินของกลุ่มบ้านปูในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 (ไม่รวมประเทศจีน) คิดเป็นจำนวน 18.3 ล้านตัน ประกอบด้วยถ่านหินที่ผลิตในประเทศอินโดนีเซีย 10.9 ล้านตันและในออสเตรเลีย 7.4 ล้านตัน
ณ เดือนมิถุนายน 2554 ปริมาณสำรองถ่านหินของบริษัทในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียมีจำนวนรวม 685.7 ล้านตัน ในขณะที่ปริมาณสำรองถ่านหินคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 512.5 ล้านตัน ทั้งนี้ ปริมาณสำรองดังกล่าวเทียบเท่ากับปริมาณการผลิตราว 16 ปี ธุรกิจถ่านหินในประเทศออสเตรเลียซึ่งดำเนินงานภายใต้ Centennial Coal Co., Ltd. (CEY) มีผลการดำเนินงานตามคาด CEY ขายถ่านหินได้ 7.4 ล้านตันในครึ่งแรกของปี 2554 และมีรายได้ 511 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ราคาถ่านหินในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของ CEY อยู่ในระดับ 33% และอัตรากำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ระดับ 10% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 CEY รายงาน EBITDA จำนวน 159 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งรวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 40 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย
นอกจากธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียแล้ว BANPU ยังเป็นเจ้าของเหมืองถ่านหินอีก 3 แห่งในประเทศจีน ได้แก่ เหมือง Daning เหมือง Hebi และเหมือง Gaohe เหมือง Daning และ Hebi ผลิตถ่านหินรวม 5.1 ล้านตันต่อปีในปี 2553 ส่วนเหมือง Gaohe ยังอยู่ระหว่างการเตรียมการผลิตเชิงพาณิชย์ ในเดือนธันวาคม 2553 ใบอนุญาตของเหมือง Daning ซึ่งบริษัทถือหุ้น 56% หมดอายุลง ทำให้เหมือง Daning ซึ่งปกติผลิตถ่านหินปีละ 4 ล้านตันต้องหยุดการผลิต บริษัทตัดสินใจขายเหมืองดังกล่าวให้แก่ผู้ร่วมทุนชาวจีนในเดือนมีนาคม 2554 บริษัทได้รับเงินจำนวน 669 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีกำไรจากการขายเงินลงทุน 272 ล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสแรกของปี 2554
ในเดือนมีนาคม 2554 กลุ่มบริษัทบ้านปูซื้อหุ้นจำนวน 12.4% ใน Hunnu ซึ่งเป็นผู้สำรวจและพัฒนาเหมืองถ่านหินในประเทศมองโกเลียด้วยมูลค่าเงินลงทุน 45 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2554 บริษัทได้ประกาศจะซื้อกิจการของ Hunnu ผ่านบริษัทย่อยคือ Banpu Minerals (Singapore) Pte. Ltd. ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขของคำเสนอซื้อหุ้นนั้น กลุ่มบ้านปูจะซื้อหุ้นสามัญจำนวน 87.6% ในราคาหุ้นละ 1.80 ดอลลาร์ออสเตรเลีย และใบแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญ (Options) ของ Hunnu
บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 423 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในการซื้อกิจการ โดยแหล่งเงินทุนประมาณ 50% จะมาจากเงินสดในมือ ส่วนที่เหลือจะเป็นการกู้ยืม คำเสนอซื้อหุ้นดังกล่าวจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขสำคัญหลายประการ เช่น การซื้อหุ้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก Foreign Investment Review Board ของประเทศออสเตรเลีย รวมถึงกลุ่มบ้านปูจะต้องถือหุ้นใน Hunnu ไม่ต่ำกว่า 90% ของจำนวนหุ้นและใบแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญทั้งหมด เป็นต้น
Hunnu เป็นบริษัทที่ก่อตั้งและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ประเทศออสเตรเลียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 บริษัทมีโครงการเหมืองถ่านหิน 15 แห่งในประเทศมองโกเลีย และปัจจุบันมีปริมาณแหล่งสำรองถ่านหินที่มีศักยภาพ (Coal Resource) รวม 691 ล้านตัน (คิดจากสัดส่วนการถือหุ้น) เหมืองทั้งหมดของ Hunnu อยู่ในขั้นตอนการสำรวจและพัฒนา ในปี 2553 สิ้นสุดเดือนธันวาคม บริษัทรายงานขาดทุนสุทธิ 7.2 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และมีผลขาดทุน 3.3 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 Hunnu มีสินทรัพย์รวม 137.1 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียและไม่มีหนี้กับสถาบันการเงินใดใด ปัจจุบันบริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 116.9 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ณ เดือนมิถุนายน 2554
อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทบ้านปูปรับตัวสูงขึ้นในปี 2553 เมื่อบริษัทซื้อกิจการ CEY อัตราส่วนดังกล่าวปรับตัวลดลงเป็น 42.4% ณ เดือนมิถุนายน 2554 จาก 51.6% ณ เดือนธันวาคม 2553 ในระหว่างปี 2554-2558 บริษัทวางแผนใช้งบลงทุนจำนวนมากถึง 350-450 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเพื่อขยายกำลังการผลิตและปริมาณสำรองถ่านหินในประเทศออสเตรเลียและอินโดนีเซีย เงินลงทุนดังกล่าวรวมการลงทุนในโครงการหงสาซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) ในประเทศลาวจำนวน 344 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2557-2558 ตามสัดส่วนที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 40% ทั้งนี้ จากที่คาดว่าบริษัทจะมี EBITDA ปีละประมาณ 900-1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานจึงน่าจะเพียงพอต่อแผนการลงทุนที่วางไว้ บริษัทวางแผนชำระคืนหนี้ปีละ 200-400 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งจะส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างเงินทุนค่อย ๆ ปรับลดลงใน 2-3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม หากการซื้อกิจการ Hunnu สำเร็จอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น แต่ก็น่าจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่านโยบายโครงสร้างเงินทุนของบริษัท
BANPU รายงานกำไรสุทธิสูงถึง 12,324 ล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2554 เนื่องจากมีกำไรหลังภาษีจากการขายเหมือง Daning จำนวน 6,307 ล้านบาท อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายปรับตัวขึ้นเป็น 23.2% ในครึ่งแรกของปี 2554 จาก 17.4% ในปี 2553 เนื่องจากราคาขายถ่านหินที่อยู่ในระดับสูง EBITDA เพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 13,158 ล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2554 ราคาถ่านหินที่สูงช่วยลดผลกระทบจากกำไรที่ลดลงจากธุรกิจถ่านหินในประเทศจีนหลังการขายเหมือง Daning ออกไป กำไรตามวิธีส่วนได้เสียจากธุรกิจถ่านหินในประเทศจีนลดลงเหลือ 174 ล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2554 จาก 2,536 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในอนาคตคาดว่าผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากบริษัทได้ทำสัญญาขายถ่านหินล่วงหน้าจำนวน 85% ของปริมาณขายในปี 2554 ไว้แล้วในระดับราคาที่ดี ในขณะที่การผลิตถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นในครึ่งหลังของปี 2554 เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูฝน อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มประชาคมยุโรป และญี่ปุ่นอาจเป็นแรงกดดันต่อราคาถ่านหินและผลการดำเนินงานในธุรกิจถ่านหินของบริษัทในระยะปานกลาง
เดือนกรกฎาคม 2554 รัฐบาลออสเตรเลียประกาศจะเรียกเก็บภาษีคาร์บอนเพื่อลดการปล่อยก๊าซที่มีคาร์บอน โดยกำหนดให้บริษัทในอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซที่มีคาร์บอนในปริมาณมากจะต้องเสียภาษีคาร์บอน คาดว่าการเก็บภาษีจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 เป็นต้นไปหากกฎหมายนี้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาออสเตรเลีย ตามกฎหมายนี้ผู้ประกอบการจะต้องเสียภาษีในอัตรา 23 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อตันก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยออกไป โดยอัตราภาษีจะเพิ่มขึ้นปีละ 2.5% และเมื่อถึงเดือนกรกฎาคม 2558 ก็จะปรับเป็นอัตราลอยตัวตามราคาตลาดซึ่งจะขึ้นอยู่กับจำนวนเพดานของก๊าซคาร์บอนที่รัฐบาลออสเตรเลียกำหนด
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาษีคาร์บอนจะมีผลกระทบต่อ CEY และ BANPU ไม่มากนักในระยะปานกลางเนื่องจากรัฐบาลออสเตรเลียประกาศแผนให้เงินชดเชยบางส่วนสำหรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีดังกล่าวแก่ผู้ประกอบการ และบริษัทยังสามารถปรับราคาขายถ่านหินสำหรับลูกค้าในประเทศได้บางรายตามสัญญาขายถ่านหินที่มีอยู่ นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วย