บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. โออิชิ กรุ๊ป (OISHI) ที่ระดับ A- ด้วยแนวโน้ม Stable หรือ คงที่"โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มในประเทศไทย ตลอดจนการมีตราสัญลักษณ์สินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างดี และฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง
ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการสนับสนุนจากบริษัทแม่คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในด้านเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางรวมถึงการปรับปรุงโรงงานผลิตด้วย จุดแข็งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง การมีสินค้าทดแทนได้ง่าย และความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบ ในขณะที่สินค้าในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มของบริษัทมีการกระจายตัวครอบคลุมทั่วประเทศ แต่สินค้าในกลุ่มธุรกิจอาหารยังมีการกระจายตัวในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเครือข่ายภัตตาคาร (Chained Restaurant) ด้วยกัน
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสฯ ว่า OISHI จะยังคงสามารถรักษาความแข็งแกร่งของตราสินค้าและสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันทั้งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเอาไว้ได้ต่อไป ทั้งนี้ กรณีมีแผนการลงทุนในอนาคต บริษัทจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อดำรงสถานะที่เข้มแข็งทางการเงินและรักษาระดับสภาพคล่องให้เพียงพอเอาไว้ตลอดเวลา
ทริสฯ รายงานว่า OISHI ก่อตั้งในปี 2542 เพื่อดำเนินธุรกิจภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นภายใต้ตราสินค้าที่บริษัทสร้างขึ้นคือ “โออิชิ" ในปี 2546 บริษัทได้ขยายสู่ธุรกิจเครื่องดื่มโดยการผลิตชาเขียวพร้อมดื่ม “โออิชิ" ต่อมาในปี 2549 ตระกูลสิริวัฒนภักดีได้ซื้อหุ้นของบริษัทในสัดส่วน 40.2% ของหุ้นทั้งหมดจากผู้ก่อตั้ง ในปี 2551 บริษัทไทยเบฟเวอเรจได้ซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัทผ่านตระกูลสิริวัฒนภักดีและทำคำเสนอซื้อหุ้นต่อผู้ถือหุ้นทั่วไป ทั้งนี้ บริษัทไทยเบฟเวอเรจกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทโดยมีสัดส่วนการถือหุ้นมากกว่า 89% ของหุ้นทั้งหมดตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา
บริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 2 ประเภท คือ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์โดยใช้ตราสินค้าหลักคือ “โออิชิ" (Oishi) และเน้นเอกลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่น ธุรกิจเครื่องดื่มสร้างรายได้โดยเฉลี่ย 55% ของรายได้รวมของบริษัท และรายได้ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจอาหาร บริษัทเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มของไทยโดยมีชาเขียว “โออิชิ" เป็นสินค้าหลักซึ่งสร้างส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 60% ในตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศ
บริษัทยังขยายประเภทสินค้าไปยังเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพคือ “Amino Plus" รวมทั้งกาแฟพร้อมดื่ม “Oishi Coffio" และเครื่องดื่มใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวคือชาเขียวผสมโซดา “Chakulza by Oishi" ชาเขียวเป็นสินค้าหลักของบริษัทที่สร้างรายได้มากกว่า 90% ของยอดขายเครื่องดื่ม บริษัทเน้นนวัตกรรมการผลิตและสร้างสินค้าใหม่ ๆ ตัวอย่างเช่น Chakulza ซึ่งเป็นสินค้าที่ข้ามสายผลิตภัณฑ์จากชาเขียวสู่ตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่ถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์
สำหรับธุรกิจอาหารนั้น บริษัทมีเครือข่ายภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น อาหารแช่แข็งและแช่เย็น ตลอดจนธุรกิจบริการจัดส่งอาหารและจัดเลี้ยง ร้านอาหาร “โออิชิ" ของบริษัทเป็นที่รู้จักในรูปแบบภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟ่ต์ภายใต้ตราสินค้า “Oishi Buffet" “Oishi Express" และ “Shabushi" ซึ่งบริการอาหารประเภทหม้อไฟและข้าวปั้นแบบญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมมาก
นอกจากนี้ บริษัทยังมีร้านบะหมี่แบบญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ “Oishi Ramen" และดำเนินธุรกิจภัตตาคาร “Kazokutei" ซึ่งบริการอาหารประเภทเส้นอุด้งและโซบะตามแบบฉบับต้นตำรับภายใต้สิทธิอนุญาต (Franchise) จากประเทศญี่ปุ่นด้วย
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 บริษัทมีเครือข่ายภัตตาคารรวม 115 สาขาซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ เครือข่ายภัตตาคารสร้างรายได้กว่า 80% ในธุรกิจอาหารของบริษัท บริษัทมีกลยุทธ์ที่จะขยายจำนวนสาขาให้ครอบคลุมตลาดมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มความหลากหลายของประเภทอาหาร เช่น ของว่าง และอาหารที่รับประทานได้ทั้งวัน ฯลฯ บริษัทมีโรงงานหลัก 2 แห่งในนิคมอุตสาหกรรมนวนครและอมตะนคร ด้วยกำลังการผลิตเครื่องดื่มรวม 258 ล้านลิตรต่อปีในปี 2553 โดยที่โรงงานนวนครยังเป็นครัวกลางสำหรับธุรกิจอาหารด้วย
OISHI ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 เป็นต้นมา บริษัทไทยเบฟเวอเรจได้ตั้งคณะผู้บริหารชุดใหญ่ให้ทำหน้าที่ปรับโครงสร้างการดำเนินงานของบริษัทและวางแผนเพื่อปรับปรุงโรงงานผลิตให้รองรับความต้องการที่ขยายตัว บริษัทไทยเบฟเวอเรจยังใช้เครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางของตนเพื่อขยายตลาดให้แก่สินค้าของบริษัทโออิชิ กรุ๊ป โดยเฉพาะชาเขียวซึ่งเป็นผู้นำตลาดให้กระจายครอบคลุมทั่วประเทศ สถานะทางธุรกิจของบริษัทโออิชิ กรุ๊ปแข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากความสามารถในการออกสินค้าใหม่ ๆ รวมถึงการมีอำนาจต่อรองในการจัดซื้อวัตถุดิบและการประหยัดจากขนาดในการผลิต
อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจัดเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันรุนแรงจากการมีผู้แข่งขันจำนวนมากและมีสินค้าทดแทนได้ง่าย มีการนำกิจกรรมทางการตลาดและส่งเสริมการขายมาใช้กระตุ้นความต้องการอยู่เสมอ ตลาดชาพร้อมดื่มเติบโตสูงมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาซึ่งดึงดูดให้เกิดผู้แข่งขันรายใหม่ๆ เนื่องจากอุปสรรคการเข้าตลาดอยู่ในระดับต่ำ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 มีการแนะนำเครื่องดื่มชาเขียวภายใต้ตราสินค้าใหม่ 2 ตราจากคู่แข่งที่แข็งแกร่งสู่ตลาด ทำให้การแข่งขันทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันตัดราคา
บริษัทประสบความสำเร็จในการนำเสนอสินค้าใหม่และโครงการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการตลาดที่น่าสนใจ เช่น รางวัลท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ บริษัทจะต้องเผชิญกับความท้าทายในอนาคตเพื่อเสนอรูปแบบส่งเสริมการตลาดที่มีประสิทธิภาพเพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดเอาไว้ต่อไป
สำหรับอุตสาหกรรมเครือข่ายภัตตาคารนั้น ประเทศไทยมีผู้แข่งขันในหลากหลายตราสินค้าทั้งที่เป็นตราสินค้าภายในประเทศและต่างประเทศซึ่งล้วนเป็นที่รู้จักอย่างดี โดยผู้ประกอบการรายสำคัญล้วนมีสาขาจำนวนมาก การที่บริษัทโออิชิ กรุ๊ปมีธุรกิจเครือข่ายภัตตาคารที่มีตลาดขนาดปานกลางและมีตราสินค้าเป็นที่รู้จักทำให้คาดว่าบริษัทจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในธุรกิจดังกล่าวในอนาคต ทว่าบริษัทก็มีความท้าทายทั้งในเรื่องการหาทำเลที่ดี การพัฒนาคุณภาพสินค้า และการตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
บริษัทมีรายได้เติบโตต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 3,950 ล้านบาทในปี 2549 เป็น 9,178 ล้านบาทในปี 2553 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมที่ระดับ 23.5% อันเป็นผลจากการเติบโตของอุปสงค์ในตลาดเครื่องดื่ม รวมทั้งจากการขยายสาขาภัตตาคารอาหาร และกิจการส่งเสริมการขายและการตลาดที่มีรางวัลนำเที่ยวประเทศญี่ปุ่นเป็นประจำทุกปี รายได้รวมสำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ที่ 4,926 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ธุรกิจเครื่องดื่มสร้างรายได้ 59% ของรายได้รวม ในขณะที่ธุรกิจอาหารสร้างรายได้ 41% การเพิ่มขึ้นของยอดขายส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแนะนำเครื่องดื่ม Chakulza สู่ตลาด
ในด้านการทำกำไรนั้น อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้จากการขายของบริษัทระหว่างปี 2551 ถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2554 คงอยู่ในระดับ 15% แม้ว่าราคาวัตถุดิบหลักจะเพิ่มขึ้น แต่การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้จัดหาวัตถุดิบและการทำสัญญาระยะปานกลางถึงระยะยาวของบริษัทก็ช่วยลดความแปรปรวนของต้นทุนสินค้าได้ในระดับหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากราคาวัตถุดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและข้อจำกัดในการขึ้นราคาสินค้าจากผลของการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นแล้วคาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะได้รับแรงกดดันในอนาคต อย่างไรก็ตาม คาดว่าระบบการผลิตแบบ Cold Aseptic Filling ซึ่งเป็นระบบการผลิตแบบใหม่สำหรับเครื่องดื่มจะช่วยรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในด้านต้นทุนได้
ฐานะการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทเป็นผลมาจากการมีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องที่เพียงพอ เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจาก 467 ล้านบาทในปี 2549 มาอยู่ที่ 1,454 ล้านบาทในปี 2553 และอยู่ที่ 733 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 บริษัทมีระดับหนี้สินที่ถือว่าต่ำ โดยมีหนี้สินรวม 850 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทสูงผิดปกติที่ 242% ในปี 2553 และ 86% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) สำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับต่ำระหว่าง 18%-23% ในช่วงปี 2553 จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2554 จากแผนการขยายโรงงานผลิตจึงทำให้คาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนในช่วง 3 ปีข้างหน้าประมาณปีละ 1,200-1,600 ล้านบาท และคาดว่าระดับหนี้สินจะเพิ่มขึ้นในระยะปานกลาง