MCOT คาด กสทช.ให้รายเดิมทำต่อไม่ต้องประมูลใหม่,เปิดสื่อใหม่หนุนรายได้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 4, 2011 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.อสมท.(MCOT)คาดว่าบริษัทจะสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามเดิมหลังการเกิดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)เพราะเชื่อว่า กสทช.จะยังคงธุรกิจสถานีวิทยุและโทรทัศน์ที่ดำเนินการอยู่ไม่ต้องเข้าประมูลใบอนญาตใหม่ ขณะเดียวกันเตรียมเพิ่มรายได้จากการเพิ่มธุริจนิวมีเดีย รวมทั้งขยายบริการให้ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ 65 ล้านคน เปลี่ยนเป้าหมายจาก 20 ล้านครัวเรือน

นายธนวัฒน์ วันสม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ MCOT เปิดเผยว่า เมื่อมีการจัดตั้ง กสทช.อย่างเป็นทางการแล้ว บริษัทจะยื่นขอใช้คลื่นเดิมทั้งกิจการโทรทัศน์ คือ ช่อง 9 อสมท.และกิจการวิทยุที่มีทั้งในกรุงเทพ 9 สถานี และต่างจังหวัด 53 สถานี รวม 62 สถานี ในช่วงที่ให้ความคุ้มครองผู้ประกอบการรายเดิมออกไปจนกว่า กสทช.จะออกแผนแม่บท คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีตามที่กฎหมายกำหนด

ส่วนจะมีการประมูลใบอนุญาตใหม่หรือไม่นั้น นายธนวัฒน์ ระบุว่า ขึ้นกับแผนแม่บท และคาดว่าผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์รายเดิม ได้แก่ ช่อง 3, ช่อง 5, ช่อง7 และช่อง 9 คงจะไม่ต้องประมูล

"ผมเชื่อว่ามันไม่เป็นอย่างนั้น เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะยุบทั้งหมดแล้วเริ่มกันใหม่ เพราะความเสียหายใหญ่หลวง และไม่ทำแน่นอน ...เปิดประมูลใหม่มีแน่ แต่คิดว่าหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเจ้าเก่าจะล้ม แต่ผมว่าไม่ใช่ ยังไงก็มีสิ่งที่คุ้มครองเจ้าเดิมอยู่แล้ว"นายธนวัฒน์ ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เตรียมพร้อมด้านเงินทุน หากในที่สุดแล้วจะต้องเข้าประมูลใบอนุญาตใหม่ โดยบริษัทมีความพร้อมระดมทุนทุกทาง ทั้งจากการกู้ตรงจากสถาบันการเงิน การออกหุ้นกู้ และการเพิ่มทุน โดยปัจจุบันบริษัทมีหนี้สิน 1 พันล้านบาท กระแสเงินสด 4 พันล้านบาท และมีทรัพบ์สินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ถือว่าฐานะการเงินแข็งแกร่ง

ขณะที่บริษัทได้มีแผนปรับโครงสร้างธุรกิจรองรับการเปลี่ยนแปลง คาดว่าปลายปีนี้จะเริ่มได้และเห็นชัดเจนขึ้นในปีหน้า โดยจะแยกเป็นหน่วยธุรกิจ 5 หน่วย ได้แก่ กิจการโทรทัศน์ กิจการวิทยุ สื่อเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม สำนักข่าวไทย และ MCOT Acadamy ซึ่งจะดูแลบริหารศิลปิน และคาดว่าจะจัดตั้งเป็นบริษัทต่อไป

เนื่องจากกิจการวิทยุ กิจการโทรทัศน์ เคเบิลทีวี ต้องไปขอใบอนุญาตใหม่ในการขอยื่นใช้คลื่นความถี่ ซึ่งการจัดต้งเป็นบริษัทจะมีมากกว่า 5 บริษัท เพราะคลื่นวิทยุ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดจะต้องยื่นขอกับองค์กรส่วนท้องถิ่น โดยตามกฎหมายกำหนดให้ต้องเป๋นนิติบุคคลอยู่ในภูมิลำเนาจึงขอยื่นได้ บริษัทจึงต้องแยกเป็นบริษัทย่อยๆสำหรับสถานีวิทยุตามรายจังหวัด

"โครงสร้างบริษัทใหม่ ตอนนี้ได้รับความเห็นชอบของบอร์ดแล้วน่าจะประกาศใช้เร็วๆนี้ ปรับโครงสร้างบริษัทใหม่หมด แต่ยังไม่เชิงว่าเป็นบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนี โดยแต่ละหน่วยธุรกิจ อสมท.ถือเต็มร้อย ถ้าเป็นไปตามเป้าหมายภาพชัดเจนก็น่าจะเป็นปีหน้า"กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ MCOT กล่าว

*พร้อมแข่งขัน-มีเครือข่ายครบ

นายธนวัฒน์ คาดว่า หลังมีการให้ใบอนุญาตใหม่กับเรายใหม่เข้ามาดำเนินกิจการโทรทัศน์ วิทยุนั้นจะมีการแข่งขันสูง ซึ่งบริษัทได้เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว โดยได้เพิ่มธุรกิจใหม่ ได้แก่ ธุรกิจช่องโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ระบบ C band และ KU band ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้เพิ่มเคเบิลทีวีเข้ามา

อีกทั้งจะมีโทรทัศน์ระบบดิจิตอลที่บริษัทร่วมกับบมจ.อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง(IEC)คาดว่าจะรับชมทีวีช่อง9 ทั้งบนจอภาพขนาดใหญ่ที่ติดตั้งตามบ้านเรือนทั่วไป, บนรถยนต์หรือระบบขนส่งมวลชน หรือแม้แต่บนอุปกรณ์พกพาต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ, PDA , iPad เป็นต้น จะทำให้ในอนาคตบริษัทจะมีรายได้กระจายไปทุกสื่อ จากปัจจุบันที่รายได้หลักอยู่ที่ธุรกิจโทรทัศน์ถึง 60% รองลงมาเป็นธุรกิจวิทยุ

ประกอบกับ พันธมิตรที่ร่วมผลิตรายการกับช่อง 9 เองก็มีอยู่แล้ว ถือเป็นฐานเดิมที่ดี เพราะบริษัทเป็นรายเดียวที่คุยกับพันธมิตรได้หมดทุกค่าย ได้แก่ แกรมมี่ อาร์เอส เวิร์คพอยท์ กันตนา เจเอสแอล เป็นต้น ถึงแม้ว่าในอนาคตบริษัทเหล่านี้ มีสิทธิจะไปขอช่องทีวีทำเอง แต่ก็มีบางส่วนมาร่วมมือกับบริษัท และส่วนใหญ่ที่ไปทำเคเบิลทวีซึ่งจะทำลักษณะตลาดเฉพาะกลุ่ม และเชื่อว่ารายใหม่ที่เข้ามาในธุรกิจสื่อต้องใช้งบประมาณสูง ก็คงไม่ง่ายที่จะเข้ามาแข่งกับรายเดิม

"หลังจากแผนแม่บทออกมาใช้ คาดว่าการแช่งขันจะทวีคูณ แต่เราถือว่าเรายังมีข้อได้เปรียบตรงที่เราเป็นสถานีหลักหนึ่งในหกของประเทศ เป็นหนึ่งในสี่ของสถานีประกอบกิจการด้านการค้า เรามีวิทยุ โทรทัศน์ สื่อใหม่เราก็เดินหน้า เพราะฉะนั้นเราเป็นบริษัทเดียวที่มีสื่อครบวงจรมากที่สุด มองแล้วเราได้เปรียบเพราะเรามีทุกระบบ จำนวนประชากรในประเทศไทยมี 60 กว่าล้าน นับเป็นครัวเรือน 20 ล้านเรือน"

"ต้องมองว่า วันนี้ MCOT ไม่ได้มองแค่ 20 ครัวเรือน แต่เรามอง 65 ล้านคน เฉพาะทีวีเราเคลื่อนย้ายตามเราไปได้ทุกที่ เรามีทุก plat form ดังนั้นการหลอมรวมสื่อทุกอย่างเป็นรูปรรม เรามีโอาสที่จะทำได้อย่างชัดเจน"กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ MCOT กล่าว

*ค่าใช้จ่ายจากไลเซ่นส์ไม่กระทบผลประกอบการ

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะมีต้นทุนค่าใช้จ่าย ซึ่งบริษัทได้คำนวณไว้แล้วสูงสุดไม่เกิน 4% ตามข้อกฎหมาย โดยแบ่งเป็นค่าธรรมนียม 2% ต่อปีและ อีก 2% เป็นการนำส่งเงินเข้าสนับสนุนสื่อ ดังนั้นบริษัทเตรียมงานรองรับไว้ และวันนี้บริษัททำรายได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นได้แล้ว

"ก็ไม่น่าจะกระทบอะไร ถ้าเราเร่งรายได้ ซึ่งทุกวันนี้ ครึ่งปีแรกโต 30% เทียบปีต่อปี ตอนนี้เราทำมาร์จิ้นได้สูงขึ้น เป็น 30%"

อีกทั้ง บริษัทมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจนิวมีเดียหรือสื่อใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยปีนี้มีรายได้จากเคเบิลทีวี กว่า 100 ล้านบาท ปีหน้จะเพิ่มเป็น 200 กว่าล้านบาท นอกจากนี้ยังมีรายได้จากทีวีดาวเทียม โมบายออนทีวี อีกด้วย

ทั้งนี้ MCOT ตั้งเป้าหมายรายได้ในปี 56 จะเพิ่มเป็น 8 พันล้านบาท จากปี 53 ที่มีรายได้ 5.6 พันล้านบาท และปีนี้คาดว่าจะมีรายได้กว่า 6 พันล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ