เลขาฯ ก.ล.ต.มอบ 4 นโยบาย เพื่อให้หน่วยงานตลาดทุนพร้อมรับวิกฤตโลกผันผวน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 7, 2011 17:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ได้ให้แนวคิดหลักในการปฏิบัติงานว่า ใน 1-2 ปีนี้ภาวะตลาดทุนจะมีความผันผวนตามเศรษฐกิจโลกจากปัจจุบันมากขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยจากต่างประเทศที่ปัจจุบันกลายเป็นวิกฤตของโลกไปแล้ว ดังนั้นทางสภาฯ ต้องมีความพร้อมที่จะเป็นตัวกลางและผลักดันให้ทุกหน่วยงานในตลาดทุนเตรียมพร้อมรองรับกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและผันผวนให้ได้ต้องทำให้ทุกส่วนสามารถหาปัจจัยและมีวิธีการตั้งรับกับความผันผวนนั้นได้

นอกจากนี้ เลขาธิการ ก.ล.ต. ยังมอบนโยบายหลัก 4 ข้อ ให้สภาฯ และ ก.ล.ต.ได้ช่วยกันทำงานและพัฒนาให้ตลาดทุนสามารถแข่งขันและรับมือกับความผันผวนของตลาดทุนและเศรษฐกิจโลกได้ คือ

1. สภาฯ ต้องดูแลภาคเอกชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน ตั้งแต่บริษัทจดทะเบียน(บจ.) บริษัทหลักทรัพย์(โบรกเกอร์) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) และนักลงทุน ให้มีความเข้มแข็งและพร้อมตั้งรับกับภาวะตลาดทุนและเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปัญหาทางอ้อมที่เกิดจากปัจจัยจากต่างประเทศ ซึ่งยังรวมถึงการเตรียมตัวปฏิบัติตามประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ด้วย

"เราต้องทำให้ตลาดทุนไทยมีความทนทานต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นให้ได้ ภาคเอกชนทุกส่วนต้องมีทั้งความคล่องตัวและยืดหยุ่นในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทจดทะเบียนที่ต้องสามารถต่อสู้และฝ่าฟันความผันผวนนี้ให้ได้" นายไพบูลย์ กล่าว

2. สภาฯ ต้องเป็นตัวกลางและดูแลให้ทุกตลาดการซื้อขาย เช่น ตลาดตราสารหนี้ ตลาดอนุพันธ์ หรือผลิตภัณฑ์ตราสารทุนใหม่ๆ เช่น โกลด์ฟิวเจอร์ส อีทีเอฟ ออยล์ฟิวเจอร์ส มีการซื้อขายที่รองรับกับสภาพเศรษฐกิจและตลาดทุนที่ผันผวนและจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยเพื่อช่วยทำให้กลไกตลาดทุนทำงานได้เต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

3. ต้องทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านตลาดทุนระดับภูมิภาคให้ได้ เนื่องจากเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันกลุ่มประเทศเอเชียได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามีศักยภาพที่แข็งแกร่งและเป็นที่สนใจของนักลงทุนเพียงใด ท่ามกลางภาวะที่สหรัฐเจอปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและกลุ่มยุโรปเจอปัญหาวิกฤตทางการเงิน

"ส่วนนี้ต้องพยายามทำให้ไทยเป็นศูนย์กลาง(ฮับ) ของตลาดทุนในระดับ "สุวรรณภูมิ" ให้ได้ ซึ่งจะมีความแตกต่างจากเดิมที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางตลาดทุนของอินโดจีนที่มีเพียงกลุ่มประเทศที่มีชายแดนติดกันระหว่างไทย พม่า กัมพูชา และเวียดนาม แต่พอเปลี่ยนเป็นฮับของสุวรรณภูมิจะขยายพื้นที่รวมไปถึงดินแดนทางตอนใต้ของจีนด้วย เนื่องจากมองว่าในอนาคตประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะพม่าและตอนใต้ของจีนจะถูกเชื่อมเส้นทางระหว่างกันและทำให้ประเทศสามารถเชื่อมต่อกันหลายๆ ด้านมากขึ้น ที่สำคัญคือไทยต้องได้รับการยอมรับเรื่องตลาดทุนจากประเทศเพื่อนบ้าน เหมือนกับที่เกาหลีได้รับการยอมรับให้ดูแลเรื่องตลาดทุนและระบบการซื้อขายจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อีกทั้งสภาฯ ต้องพยายามช่วยทำให้เกิดการจดทะเบียนหลักทรัพย์ข้ามตลาด (ดูโอลิสติง) กันได้มากขึ้น" นายไพบูลย์ กล่าว

4. สภาฯ ต้องดูแลและให้ภาคเอกชนในตลาดทุน อย่าง โบรกเกอร์ และ บลจ.สามารถแข่งขันในระดับสากลมากขึ้น จากที่ปัจจุบันมองว่า โบรกเกอร์และ บลจ.อาจไม่คุ้นเคยหรือมีการแข่งขันในระดับสากลที่น้อยเกินไป รวมทั้งการผลักดันให้ตลาดทุนให้ความช่วยเหลือต่อสังคมโดยรวมให้มากขึ้นเช่นกัน

นอกจากนั้น สภาฯ ควรเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ช่วยผลักดันเรื่องการสร้างความรู้พื้นฐานด้านการเงิน(Financial Literacy) ให้ขยายไปสู่สาธารณชนในวงกว้างมากขึ้น ตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ซึ่งเป็นการช่วยกันทำงานคนละด้านระหว่าง ก.ล.ต.ที่เป็นผู้กำหนดภาพกว้าง ขณะที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) จะเป็นผู้สร้างการรับรู้ให้กับบุคลากรในตลาดทุนและนักลงทุนทั่วไป ขณะที่สภาฯ จะเป็นหน่วยงานที่ช่วยประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ให้มีการเชื่อมโยงและขยายวงให้เห็นความสำคัญของการสร้างความรู้พื้นฐานด้านการเงินมากขึ้น เช่น กระทรวงศึกษาที่จะผลักดันให้มีการบรรจุเรื่องการสร้างความรู้พื้นฐานด้านการเงินไปในหลักสูตรการเรียนในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ