น.ส.วิไลวรรณ นัดวิไล โฆษกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) กล่าวว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ขอความร่วมมือกับกรมทางหลวงชนบท ขุดลอกพื้นที่บริเวณต้นคลองลาดกระบัง เพื่อรองรับน้ำและระบายน้ำไปทางด้านทิศใต้ให้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยได้ประสานกรมชลประทานให้เร่งสูบน้ำระบายสู่ทะเลแล้ว
ส่วนการป้องกันพื้นที่ภายในสนามบินนั้น ทอท.ได้ประสานกับกรมทางหลวงชนบท เสริมความแข็งแรงของเขื่อนดิน และการกักเก็บน้ำในพื้นที่ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชน ขณะนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีร้อยละ 25 หรือ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังรองรับน้ำได้ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร หากเกิดเหตุสุดวิสัยฝนตกหนักเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องระบายน้ำออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสู่ทะเล
"จากการประเมินสถานการณ์น้ำคาดว่า ปริมาณน้ำจากทางด้านทิศเหนือ จะเริ่มเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครภายในสัปดาห์นี้ และจะมีปริมาณน้ำมากกว่าทุกปี"น.ส.วิไลวรรณ กล่าว
อนึ่ง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีเขื่อนดินสูง 3 เมตรรอบพื้นที่ยาวประมาณ 23.5 กิโลเมตร ภายในเขื่อนมีคลองระบายน้ำล้อมรอบ เพื่อระบายน้ำลงอ่างเก็บน้ำ 6 แห่ง รองรับปริมาณน้ำได้ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร และด้านทิศใต้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีสถานีสูบน้ำ 2 สถานี สถานีละ 4 เครื่อง สามารถระบายน้ำได้ 12 ลูกบาศก์เมตร/วินาที หรือ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน รองรับปริมาณน้ำฝนได้ 149 มิลลิเมตร/วัน
ขณะที่สถิติปริมาณน้ำฝนตั้งแต่เปิดให้บริการ มีปริมาณน้ำฝนสูงสุดในเดือนตุลาคม 2552 จำนวน 105.2 มิลลิเมตร สำหรับศักยภาพในการระบายน้ำทางด้านทิศใต้ของกรมชลประทาน มีเครื่องสูบน้ำ 99 เครื่อง สามารถระบายน้ำได้ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน