(เพิ่มเติม) ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้าลงตามตลาดหุ้นทั่วโลก หลังปัญหาหนี้ยุโรปไม่คืบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 18, 2011 09:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้บังคับบัญชาสายงานวิจัย บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ตลาดหุ้นเช้านี้น่าจะปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นทั่วโลก และตลาดหุ้นสำคัญอย่างดาวโจนส์ หลังจากที่เยอรมันนีประกาศทิศทางแก้ปัญหาหนี้ยุโรปไม่ให้คาดหวังว่าจะแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จซึ่งยังไม่ใช่สิ่งที่นักลงทุนต้องการ ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตอบรับโดยการปรับลดลง และยังจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำในยุโรปวันที่ 23 ต.ค. 54 นี้ ยิ่งเห็นทิศทางการแก้ปัญหาหนี้ยุโรปยิ่งสร้างความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกต่อไป จึงแนะนำให้ช่วงสั้นนักลงทุนขายทำกำไรออกไปก่อนแล้วค่อยรอเก็บหุ้นใหม่

ทั้งนี้ ระหว่างวันนักลงทุนสามารถเก็งกำไรได้บ้างในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จะทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/54 แนะนำลงทุนหุ้น SCB KBANK BAY และหุ้นที่ได้รับประโยชน์หลังน้ำลดลงจากน้ำท่วม เช่น วัสดุก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง อาหาร และหลีกเลี่ยงหุ้น กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่น อิเลคทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์

อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันหุ้นอาจรีบาวน์ขึ้นได้เนื่องจากวันนี้ประเทศจีนประกาศตัวเลขจีดีพี หากตัวเลขไม่ได้ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 9.3% มากนัก น่าจะส่งผลดีด้านจิตวิทยาบ้าง โดยกรอบการลงทุนวันนี้ให้แนวรับที่ 959-952 จุด และแนวต้านที่ 977-984 จุด สำหรับวันนี้ยังคงต้องจับตาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วย

ประเด็นของการพิจารณาการลงทุน

  • ตลาดหุ้นนิวยอร์ควานนี้(17 ต.ค.) ดัชนีดาวโจนส์ ปิดที่ 11,397.00 จุด ร่วงลง 247.49 จุด(-2.13%)ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 1,200.86 จุด ลดลง 23.72 จุด(-1.94%) ดัชนีแนสแด็ก ปิดที่ 2,614.92 จุด ลดลง 52.93 จุด (-1.98%)
  • นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2,410.92 ล้านบาทเมื่อวานนี้
  • ราคาน้ำมันดิบส่งมอบเดือนพ.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการวานนี้ที่ 86.38 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 0.42 ดอลลาร์ หรือ 0.48%
  • ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์เช้านี้เปิดที่ 12.68 เหรียญฯ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้(17 ต.ค.)ปิดที่ 11.04 เหรียญฯ/บาร์เรล
  • "กิตติรัตน์"ชงนายกรัฐมนตรีออกกฎหมายกู้เงินหลายแสนล้านฟื้นฟูประเทศหลังภาคอุตสาหกรรมเสียหายรุนแรง คาดสูญรายได้ทะลัก 3.15 แสนล้าน ด้านคลังจ่อทำงบขาดดุลเพิ่มอีก 50,000 ล้านบาท โปะงบที่สั่งเฉือนจากกระทรวงต่างๆ อีก 80,000 ล้านบาท สภาพัฒน์แนะรัฐถึงเวลารื้อใหญ่บริหารจัดการน้ำ
  • ผู้ว่าการ ธปท.ยอมรับตัวเลขความเสียหายน้ำท่วมยังพุ่งไม่หยุด ล่าสุดทะลุหลักแสนล้านแล้ว ชี้ปัจจัยต่างประเทศซึมยาวซ้ำ ประกอบกับปัญหาน้ำท่วม จ่อปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้-ปีหน้า ขณะเดียวกันประชาชนมีความต้องการเงินสดเพิ่มขึ้นช่วงน้ำท่วม สาขาแบงก์ใกล้เคียงกู้ยืมเงินสดระหว่างกันเองเพื่อช่วยเหลือให้การเบิกจ่ายเงินสดไม่สะดุด
  • ประธานกรรมการสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมส่งผลให้ยอดผลิตรถยนต์ในปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยคาดว่าจะลดลงจากเป้า 1.8 ล้านคัน เหลือ 1.5 ล้านคัน ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศลดลงจากเป้า 950,000 คันเหลือ 900,000 คัน หรือหายไป 50,000 คัน ส่งผลให้ยอดเช่าซื้อรถยนต์ในระบบลดลงจากที่ตั้งไว้ 650,000 ล้านบาท เหลือ 600,000 ล้านบาท หรือหายไป 50,000 ล้านบาท ขณะที่ยอดเช่าซื้อของแต่ละบริษัทก็คาดว่าน่าจะหายไปประมาณ 10%
  • รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย มองความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยใหญ่ของไทยอาจส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่และมีมูลค่าการลงทุนสูงสุด ชะลอการตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นเป้าหมายหลักสำหรับการย้ายฐานการผลิตมาลงทุน เพื่อรอดูแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวของรัฐบาล อาจทำให้เม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศปรับตัวลดลง และส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย
  • ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งกองทุนวงเงิน 500 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ขณะนี้ได้หารือร่วมกับสมาคมบริษัทจดทะเบียน (บจ.) สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ในการจัดตั้งกองทุนแล้ว เบื้องต้น ตลท. จะจัดสรรเงินกำไรของ ตลท. เพื่อใส่เงินกองทุน 250 ล้านบาท ส่วนอีก 250 ล้านบาทจะมาจากสมาคมฯต่าง ๆ ร่วมสมทบ คาดว่าจะสรุปสัดสัปดาห์นี้
  • เลขาธิการ สภาพัฒน์ คาดผลกระทบจากน้ำท่วมคาดว่าจะทำให้จีดีพีลดลง 1-1.7% เพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่คาดว่าจะกระทบต่อจีดีพี 0.6-0.9% โดยครั้งนี้ได้รวมความเสียหายนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง แต่ยังไม่รวมนวนคร ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการสูญเสียไป 315,000 ล้านบาท กระทบจีดีพีประมาณ 182,000 ล้านบาท ประเมินใช้เวลาประมาณ 3 เดือนที่เครื่องจักรจะกลับมาเดินเครื่องผลิตได้ใหม่ แต่เครื่องจักรบางตัวที่ใช้เทคโนโลยีอาจต้องใช้เวลานาน 6-12 เดือน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ