(เพิ่มเติม) PTT รับน้ำท่วมกระทบรายได้ Q4/54 แต่ทั้งปีเชื่อยังทำได้ตามเป้า 2ล้านลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 20, 2011 17:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.(PTT) เปิดเผยว่า ยอดขายในไตรมาส 4/54 น่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งขณะนี้ยังประเมินผลกระทบได้ยาก แต่อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่ารายได้ทั้งปี 54 จะยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากผลประกอบการในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาเป็นไปตามเป้าหมาย

"เราคงต้องรออีกสักระยะถึงจะประเมินตัวเลขได้ แต่คิดว่าทั้งปีคงไม่กระทบเท่าไร เพราะ 3 ไตรมาส เราทำได้ดี" นายไพรินทร์ กล่าว

สำหรับปริมาณการใช้ก๊าซในช่วงนี้ปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยขณะนี้มีความต้องการเฉลี่ยอยู่ที่ 4,020 ลูกบาศก์ฟุต/วัน จากเป้าหมายทั้งปีที่เฉลี่ย 4,200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ขณะที่กลุ่มปิโตรเคมีที่ขายในประเทศ และยังไม่สามารถส่งมอบให้อุตสาหกรรมในประเทศได้ ก็จะนำไปส่งออก จากปกติมียอดส่งออก 40-50% ส่วนเม็ดพลาสติกมียอดการผลิตสูงขึ้นจากความต้องการใช้ป้องกันน้ำท่วม เช่น เม็ดพลาสติก PP ที่ใช้ทำถุงกระสอบทราย เม็ดพลาสติ PE ที่ใช้ผลิตถุงดำ

นายไพรินทร์ กล่าวยืนยันว่า ปตท.จะดูแลไม่ให้พลังงานของประเทศขาดแคลน ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV)ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) แต่ยอมรับว่าการจำหน่าย NGV ในบางสถานีบริการอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากสถานีแม่จำนวน 3 แห่งในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของประเทศถูกน้ำท่วม ทำให้ปริมาณก๊าซหายไปประมาณ 30-40%

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนได้มีการนำรถขนส่งก๊าซออกมาให้บริการเพิ่มเติม และได้มีการประชาสัมพันธ์ให้รถแท๊กซี่ รถขนส่งมวลชน และรถยนต์ทั่วไป ไปใช้บริการที่สถานีตามแนวท่อซึ่งมีปริมาณเพียงพออย่างแน่นอน และได้เปิดสายด่วน 1365 เพื่อให้สอบถามเรื่องสถานีบริการก๊าซและน้ำมัน ทั้งนี้ยอมรับว่า เป็นห่วงสถานีแม่ที่ตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกที่ขณะนี้น้ำเริ่มมาล้อมบริเวณสถานีแล้ว

ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องการขนส่งน้ำมันไปยังคลังน้ำมันในจังหวัดต่าง ๆ ได้ขอความร่วมมือจากรัฐบาลให้อนุญาตให้รถบรรทุกน้ำมันและก๊าซฯสามารถวิ่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากเดิมที่จะวิ่งได้เพียงในช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น เนื่องจากในขณะนี้การเดินทางขนส่งต้องใช้ระยะเวลามากขึ้น ส่วนการขนส่งก๊าซตามแนวท่อที่อยู่ใต้ดินถึงแม้ว่าในพื้นที่นั้นจะถูกน้ำท่วมแต่ก็ไม่ได้รับผลกระทบ

"โรงกลั่นขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดระยองและอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ยังไม่ได้รับผลกระทบ และมีความสามารถในการผลิตเท่าเดิม"นายไพรินทร์ กล่าว

ด้านนายวิชัย พรกีรติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น PTT กล่าวว่า สถานีแม่ NGV 3 แห่งในปทุมธานีที่ไม่สามารถเปิดบริการได้ เพราะเส้นทางขนส่งถูกน้ำท่วม และทำให้ก๊าซหายไป 1,000 ตันต่อวัน จากยอดจำหน่ายรวม 7,000 ตันต่อวัน ขณะนี้ได้แก้ไขโดยการนำรถเทรลเลอร์ขนส่งจากพื้นที่อื่น เพื่อให้บริการยังสถานีลูกทำให้ปั๊ม NGV ด้านตะวันตกปิดลดลงจาก 39 แห่ง เหลือ 16 แห่ง แต่ต้องยอมรับว่าการขนส่งในขณะนี้ล่าช้า ผู้ใช้เอ็นจีวีจึงสามารถไปใช้บริการตามแนวสถานีท่อ จะได้รับความสะดวกสบายมากกว่า และจากการจัดการรูปแบบนี้ ทำให้ NGV หายไปจากระบบลดลงเหลือ 300-400 ตันต่อวัน จากเดิมที่ลดลงรวม 1,000 ตันต่อวัน

ส่วนสถานีบริการน้ำมันของปตท.ล่าสุด ปิดตัวลง 59 แห่ง และอยู่ในข่ายเฝ้าระวังอีก 25 แห่ง ซึ่งจากนิคมและโรงงานอุตสาหกรรมที่ปิดตัวลง และเส้นทางน้ำท่วม ทำให้รถบรรทุกใช้งานน้อยลง ส่งผลต่อยอดขายดีเซลลดลงแล้ว 1.5 ล้านลิตรต่อวัน จากยอดขายรวม 13 ล้านลิตรต่อวัน

สำหรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในปีนี้คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4,200 ล้านลุกบาศก์ฟุต/วัน แต่จกปัญหาน้ำท่วมทำให้ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในวันนี้ลดลงมาอยู่ที่ 4,020 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จากเดิมก่อนหน้านี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 4,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งถือว่าเป็นการรปับลดลงตามฤดุกาลที่เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง ประกอบกับหลายนิคมอุตสาหกรรมหยุดการผลิตลง

ด้านนายธนา พุฒรังสี รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ขณะนี้จากการระบายน้ำไปสู่ภาคตะวันออกของกทม. ทำให้สถานีไฟฟ้าแรงสูงที่ต้องเฝ้าระวังได้แก่ สถานีไทรน้อย อ่อนนุช และหนองจอก ซึ่งจากการหารือกับกฟน. และร่วมมือกัน หากกรณีน้ำท่วมสูง สถานีจ่ายไฟไม่ได้ จะเปลี่ยนโหลดไฟฟ้าไปรับจากสถานีอื่น ทำให้การบริการไฟฟ้าในเขตกทม.และปริมณฑล อยู่ในระดับ 7,000 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าจะไม่ขาดแคลน ส่วนกรณีเสาไฟฟ้าแรงสูงของกฟผ.ที่มีทั่วประเทศ 555,000 ต้น พบว่า เสาแช่น้ำแล้ว 6,500 ต้น แต่ไม่มีผลกระทบต่อระบบส่งแต่อย่างใด

ขณะที่เขื่อนภูมิพลที่ระบายออกทางสปิลเวย์เล็กน้อย ยืนยันว่าเป็นไปตามแผนการจัดการระบายน้ำโดยกรมชลประทาน ซึ่งเมื่อระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลเพิ่ม ก็ลดการระบายจากเขื่อนสิริกิต์ ทำให้การระบายน้ำลงสู่ลุ่มเจ้าพระยังเท่าเดิมคือ 70 ล้านลบ.ม./วัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ