ก.ล.ต.กำหนดหลักเกณฑ์พร้อมเปิดรับคำขอตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 25, 2011 09:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. พร้อมให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) และผู้ที่สนใจยื่นขอจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน(infrastructure fund)ได้ โดยหลักเกณฑ์ที่รองรับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 และสำหรับขนาดของกองทุนรวมสำหรับกิจการบางประเภทได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพธุรกิจแล้ว

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเป็นเครื่องมือระดมทุนหนึ่งที่จะช่วยลดภาระของภาครัฐทั้งด้านงบประมาณและหนี้สาธารณะในการพัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอันจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว รวมทั้งเป็นช่องทางในการระดมทุนของภาคเอกชนและเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสถาบันและประชาชนมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น

ประกาศหลักเกณฑ์การจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานมีสาระสำคัญ ดังนี้ (1) กองทุนรวมมีลักษณะเป็นกองทุนปิด โดยมีเงินทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท (2) สามารถลงทุนโดยตรงในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน หรือลงทุนโดยถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดในบริษัทที่มีการลงทุนในหรือมีรายได้หลักจากกิจการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบขนส่งทางราง ทางพิเศษ ไฟฟ้า น้ำประปา สนามบิน ท่าเรือน้ำลึก โทรคมนาคม รวมถึงพลังงานทางเลือกได้ และมีมูลค่าการลงทุนในแต่ละโครงการไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท และล่าสุดได้ผ่อนคลายกรณีที่เป็นกิจการประเภทไฟฟ้าเป็นไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท

(3) สามารถลงทุนในโครงการที่ก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ (greenfield project) ได้ แต่รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 30 ของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทุน และหากมีสัดส่วนการลงทุนที่สูงกว่าจะต้องเสนอขายหน่วยลงทุนต่อผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น (4) บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันสามารถถือหน่วยลงทุนได้ไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด เว้นแต่เป็นบุคคลที่ได้รับยกเว้น เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (5) มีนโยบายการกระจายหน่วยลงทุนต่อผู้ลงทุนทั่วไปชัดเจนและนำหน่วยลงทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นายวรพล กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยยังมีความจำเป็นมาก ในขณะที่การลงทุนลักษณะนี้ต้องใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งควรเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐานผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนี้ คณะกรรมการกำกับตลาดทุนในการประชุมเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 ได้มีมติให้ลดมูลค่าทรัพย์สินของกิจการประเภทไฟฟ้าแต่ละโครงการเหลือขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนนโยบายพลังงานของภาครัฐที่ต้องการให้กิจการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดเล็กมากของภาคเอกชนขายไฟฟ้าให้แก่ภาครัฐ

นอกจากนี้ เพื่อให้การลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะในวงกว้างของประเทศอย่างแท้จริง หลักเกณฑ์จึงได้เปิดกว้างให้การลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานสามารถมีผู้ซื้อผลิตภัณฑ์หรือผู้ใช้บริการที่ไม่ใช่ภาครัฐได้ด้วย

ทั้งนี้ หากหลักเกณฑ์ใดยังคงเป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจ ก.ล.ต. พร้อมรับฟังและหาแนวทางปรับปรุงเพื่อให้กองทุนรวมนี้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ส่วนในเรื่องของสิทธิประโยชน์ทางภาษี ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังเร่งพิจารณาให้อยู่"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ