(เพิ่มเติม) SCC เผยรับผลกระทบอุทกภัยรุนแรงใน Q4/54 แต่จะฟื้นตัวใน Q1-Q2/55

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 26, 2011 14:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) คาดว่ายอดขายรวมของบริษัทในไตรมาส 4/54 จะได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยรุนแรงเพราะลูกค้าและโครงการอสังหาริมทรัพย์ โครงการก่อสร้างต่างๆชะลอการสั่งซื้อสินค้า ประกอบกับร้านค้าในเครือบางส่วนไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติ เพราะอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเมื่อน้ำลดสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นรวมถึงธุรกิจจะดีขึ้นในไตรมาส 1 และ 2 ปีหน้า และสถานการณ์น้ำท่วมจะไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าหลักของบริษัท ซึ่งขณะนี้ได้เร่งการผลิตสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการหลังน้ำลดของประชาชนและผู้ประกอบการต่างๆ

SCC ระบุว่า บริษัทย่อยของเอสซีจีที่ต้องหยุดผลิตเป็นการชั่วคราวเนื่องจากน้ำท่วมโรงงาน ได้แก่ โรงงานของ บมจ.ควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปรดัคส์ (Q-CON) ซึ่งผลิตคอนกรีตมวลเบา ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้หยุดผลิตตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2554 ,โรงงานของบริษัทกลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด ซึ่งผลิตกล่องกระดาษ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และโรงงานที่จังหวัดปทุมธานี ได้หยุดผลิตตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2554

บริษัทย่อยของเอสซีจีที่ต้องหยุดผลิตเป็นการชั่วคราว เนื่องจากผลกระทบจากการขาดวัตถุดิบสำหรับการผลิต แม้ว่าจะยังสามารถป้องกันน้ำท่วมโรงงานไว้ได้ ได้แก่ โรงงานของบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด ที่ท่าหลวง จังหวัดสระบุรี และบริษัทผลิตภัณฑ์กระเบื้อง (ลำปาง) จำกัด ที่จังหวัดลำปาง ซึ่งผลิตกระเบื้องไฟเบอร์ซิเมนต์ ได้หยุดสายการผลิตบางสายตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2554 และโรงงานของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ท่าหลวง) จำกัด จังหวัดสระบุรี ซึ่งผลิตปูนซีเมนต์ ได้หยุดผลิตตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2554

สำหรับโรงงานของบริษัทร่วมที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนวนครซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมโรงงานและต้องหยุดการผลิต ได้แก่ บริษัท สยามซานิทารีฟิตติ้งส์ จำกัด (ผลิตก๊อกน้ำและอุปกรณ์ประกอบสุขภัณฑ์), บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด โรงงานนวนคร (ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร), บริษัทผลิตภัณฑ์วิศวไทย จำกัด (ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์),บริษัท มูซาชิออโต้พาร์ท จำกัด โรงงาน นวนคร (ผลิตชิ้นส่วนจักรยานยนต์)

ขณะที่สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ และโรงงานอื่นๆ ยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากสถานการณ์น้ำท่วม อย่างไรก็ตามเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น พนักงานที่สำนักงานใหญ่ได้ย้ายไปทำงานในสถานที่ปลอดภัยตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2554 เป็นต้นไป การดำเนินธุรกิจของของเอสซีจี ยังคงเป็นไปตามปกติ

ทั้งนี้ เอสซีจีจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อเร่งฟื้นฟูภาพโรงงานที่ได้รับผลกระทบให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด โดยเอสซีจีได้ทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกประเภทสำหรับทรัพย์สินของบริษัทและบริษัทย่อยซึ่งคุ้มครองภัยจากสถานการณ์น้ำท่วมไว้ด้วยแล้ว

นายกานต์ ระบุว่า ในช่วงน้ำท่วมความต้องการในประเทศของธุรกิจเคมีภัณฑ์ลดลงจากปริมาณการขายที่ลดลงของธุรกิจรถยนต์ ในขณะที่ผู้ผลิตรายย่อยในกรุงเทพฯ ยังไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ความต้องการในประเทศของธุรกิจกระดาษคาดว่าจะลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากการหยุดชะงักของกระบวนการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ ในหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น อาหารและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหาร อุปกรณ์ไฟฟ้า และสินค้าอุปโภคบริโภค ปริมาณความต้องการกระดาษพิมพ์เขียนคาดว่าจะลดลงจากการใช้จ่ายสินค้าในกลุ่มกระดาษ เพื่อการโฆษณาลดลง

ความต้องการในประเทศของธุรกิจซิเมนต์และธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้างลดลงจากทั้งภาคธุรกิจก่อสร้าง ที่พักอาศัย และธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นผลกระทบจากน้ำท่วมในหลายจังหวัด เนื่องจากสภาวะน้ำท่วมที่ค่อนข้างรุนแรง ทำให้การฟื้นฟูภายหลังสภาวะน้ำท่วมให้กลับเข้าสู่สภาพปกติขึ้นอยู่กับศักยภาพของทั้งระบบ Supply Chain ในอุตสาหกรรม นับตั้งแต่การขนส่งวัตถุดิบและพลังงาน สถานะของผู้ผลิตรายหลักการขนส่งสินค้าสำเร็จรูป ไปจนถึงพนักงานในกระบวนการผลิต ทั้งนี้ หากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นกลับสู่สภาวะปกติ รวมถึงมีความต้องการในการรอซื้อสินค้าเพื่อใช้ในการฟื้นฟูภายหลังสภาวะน้ำท่วม คาดว่าจะส่งผลให้การขายสินค้าในประเทศของทุกกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจซิเมนต์และธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ