(เพิ่มเติม) SNCคาดรง.ร่วมทุนญี่ปุ่นใช้ 300-400ลบ.ซื้อเครื่องจักร,เริ่มผลิตต้นปี 55

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 31, 2011 12:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสามิตต์ ผลิตกรรม รองประธานกรมการบริหาร บมจ.เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์(SNC) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัท เอส เอส เอ็น ออโต้เมชั่น จำกัด(SSMA) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง SNC กับพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น ดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะและเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทขึ้นรูปโลหะแผ่น เตรียมลงทุน 300-400 ล้านบาท ในปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า เพื่อใช้ซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตต่างๆ รวมทั้งการปรับปรุงโรงงาน

ทั้งนี้ โรงงงานดังกล่าวคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือน ม.ค.-ก.พ. 55 หลังจากเริ่มทดลองเดินเครื่องในเดือน ธ.ค. 54 ซึ่งขณะนี้เริ่มมีออเดอร์จากลูกค้าเข้ามาแล้ว โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีรายได้ 300-400 ล้านบาทในปีแรกที่เริ่มผลิตโดย SNC ถือหุ้นในสัดส่วน 49% บริษัท SUGIMOTO ถือหุ้น 46% และที่เหลืออีก 5% ถือหุ้นโดยอดีตประธานบริษัทมิตซูบิชิ อิเลคทริค ประเทศไทย

"เราจะลงทุนในช่วงปีแรก 300-400 ล้านฯ หลักๆ ใช้ในการซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตต่างๆ และบางส่วนลงทุนในโรงงานแต่ไม่เยอะ เพราะเราใช้พื้นที่โรงงานของเราที่มีอยู่แล้วที่ระยอง เป็นแค่การปรับปรุงโรงงาน ไม่ได้สร้างใหม่ ส่วนรายได้คาดทำได้เบื้องต้น 300-400 ล้านบาทในปีแรก แต่ก็มีโอกาสที่จะได้มากขึ้น เพราะหลังจากวิกฤตน้ำท่วมผ่านพ้นไป ลูกค้าก็คงต้องเร่งกลับมาดำเนินการผลิตก็เป็นโอกาสที่รายได้จะเพิ่มขึ้นอีก"นายสามิตต์ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ในระหว่างการเจรจาร่วมทุนกับพันธมิตรจากประเทศไต้หวันอีกหนึ่งราย แต่ยังไม่สรุปและเปิดเผยรายละเอียดได้

สำหรับแนวโน้มผลประกอบปี 54 ยังไม่สามารถประเมินตัวเลขที่ชัดเจนได้ เนื่องจากต้องรอดูแนวโน้มผลประกอบการงวดไตรมาส 4/54 ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะลูกค้าของบริษัทเกินกว่า 50% ต้องหยุดการผลิตจากผลกระทบจากน้ำท่วม โดยก่อนหน้านี้บริษัทประเมินว่ารายได้ปี 54 จะเติบโต 10-15% จากปีก่อนที่มีรายได้ 8.26 พันล้านบาท และกำไรเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% จาก 381 ล้านบาท ทั้งนี้ในช่วง 9 เดือนแรก บริษัทมีรายได้แล้ว 5.83 พันล้านบาท และกำไร 385 ล้านบาท

“เราก็มีแผนการดำเนินงานในแต่ละไตรมาสอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ลูกค้าเราเกิน 50% ต้องหยุดการผลิตจากภาวะวิกฤตน้ำท่วม เนื่องจากส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากซัพพลายเชน คือไม่มีชิ้นส่วนผลิต ซึ่งหลายรายก็จะเริ่มทยอยเปิดในเดือนหน้า แต่ลูกค้าจริงๆที่ได้รับผลกระทบโดยตรงที่ตัวโรงงานเสียหายนั้นมีอยู่ 4-5 บริษัท แต่ลูกค้าเกิน 90% โรงงานไม่เสียหาย ตอนนี้ก็อยากให้ลูกค้าเปิดเผยแผนงานก่อน เราจะได้เข้าไปคุยกับลูกค้าแต่ละราย ถึงจะได้ตัวเลขที่ชัดเจนอีกที"นายสามิตต์ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทมีโรงงานอยู่ทั้งหมด 4 โรง ในจังหวัดสมุทรปราการ 2 โรง และที่จังหวัดระยองกับจังหวัดชลบุรีอีกแห่งละ 1 โรง โดยขณะนี้โรงงานทั้ง 4 แห่งยังไม่ถูกน้ำท่วม แต่บริษัทก็ได้มีการย้ายเครื่องจักรกว่า 70% ของโรงงานสมุทรปราการ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมไปไว้ที่โรงงานในจังหวัดระยองและชลบุรีแล้ว ส่วนอีก 30% เป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ไม่สามารถย้ายได้ แต่ก็มีการสร้างกำแพงปูนและกำแพงกระสอบทรายสูงขึ้นมา 2 เมตรจากพื้นโรงงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ