
นายภาคิณ กิตติภานุวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.นูทริชั่น โปรเฟส [NUT] เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 37 ล้านหุ้น คิดเป็น 30.83% ของจำนวนหุ้นสามัญที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท และจะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมี บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
NUT เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง ภายใต้แบรนด์บริษัทหรือแบรนด์ร่วม และรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร และเครื่องสำอางภายใต้แบรนด์ของบุคคลภายนอก ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากกว่า 10 ปี จากการบริการแบบครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาสูตร การผลิตตามมาตรฐานสากล ไปจนถึงการจัดจำหน่ายครอบคลุมทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ บริษัทมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจเสริมอาหารและเครื่องสำอางให้เติบโต โดยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่และขยายช่องทางการจัดจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนความพร้อมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ NUT เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมเสริมอาหารและเครื่องสำอางอย่างกว้างขวาง
"การเข้าตลาดหลักทรัพย์ mai ครั้งนี้ไม่เพียงเพิ่มศักยภาพทางการเงิน แต่ยังเป็นก้าวสำคัญสู่การสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจต่อแบรนด์ และเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต ตอกย้ำสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเสริมอาหารและเครื่องสำอาง" นายภาคิณ กล่าว
สำหรับวัตถุประสงค์ของการระดมทุน เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน สำหรับ การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การผลิต Content (รูปแบบเนื้อหา) และการว่าจ้างพรีเซ็นเตอร์ และอินฟลูเอนเซอร์สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางใหม่
ด้านนายวิชา โตมานะ กรรมการผู้จัดการ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่าปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) บมจ.นูทริชั่น โปรเฟส เรียบร้อยแล้ว และกำลังดำเนินการจัดทำข้อมูลและนำเสนอข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจลงทุนต่อไป
NUT ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจเสริมอาหารและเครื่องสำอาง ที่ได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรม อีกทั้งปัจจุบันธุรกิจเสริมอาหารยังคงมีแนวโน้มเติบโตสูงในระยะยาว จากปัจจัยกระแสรักและดูแลสุขภาพ ที่ผู้บริโภคยุคใหม่มีความตื่นตัวด้านการดูแลตนเองมากขึ้น รวมถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ส่งผลต่อความต้องการผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง