นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่าการปล่อยสินเชื่อในปี 54 จะเติบโตได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 20% โดยในช่วง 9 เดือนแรกสามารถปล่อยสินเชื่อได้ตามมเป้าหมายแล้ว ขณะที่ไตรมาส 4/54 สินเชื่อยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องแม้จะเกิดภาวะน้ำท่วม แต่ลูกค้ายังมาขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น เช่นสินเชื่อเพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร และมีการขอเบิกจ่ายวงเงินสินเชื่อเพิ่ม
ขณะที่ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ในปี 54 น่าจะควบคุมได้ไม่เกินเป้าหมายที่ 3% โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/54 อยู่ที่ 3.2% แม้ลูกค้าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ไม่ได้ส่งผลให้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารมีการช่วยประคับประคอง ผ่อนผันในการชำระคืนหนี้ ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ก็ผ่อนผันการข้มงวดหนี้เอ็นพีแอล แต่ยอมรับว่า ในไตรมาส 4/54 จะเห็นธนาคารพาณิชย์ตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้น
ส่วนปี 55 นายสุภัค กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจใหม่ หลังเกิดสถานการณ์น้ำท่วม แต่มองว่าสินเชื่อในปี 55 น่าจะเติบโตได้มากกว่า 20% เนื่องจากหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย คาดว่า ธุรกิจจะกลับมาเดินเครื่องได้ตามปกติตั้งแต่เดือนมี.ค.55 เป็นต้นไป และจะเริ่มเข้าสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจทำให้ช่วงครึ่งปีแรกน่าจะเติบโตได้มาก ขณะที่ เอ็นพีแอลก็ยังคงเป้าหมายไว้ไม่เกิน 3%
ทั้งนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 55 น่าจะโตในระดับ 4.5-5.0% โดยมองว่า รัฐบาลน่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแรง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1% จากปีนี้
ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายปี 55 น่าจะทรงตัวหรือมีแนวโน้มลดลง แต่ประเมินว่าการะชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งสุดท้ายในเดือนพ.ย.นี้มีโอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหลังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
"ตอนนี้สภาพคล่องในระบบยังดีอยู่ เพราะเรายังเกินดุลการค้า การส่งออกก็ยังขยายตัวได้ดี นักท่องเที่ยวก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะที่ภูเก็ต พัทยา ยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาซึ่งนักท่องเที่ยวเหล่านี้จะมีค่าใช้จ่ายต่อหัวเยอะ ยุโรปก็น่าจะคลี่คลายก็จะเริ่มกลับมาลงทุน"นายสุภัค กล่าว
ทั้งนี้ ลูกค้าธนาคารในนิคมอุตสาหกรรมจากผลกระทบน้ำท่วม ประมาณ 40 ราย จากการหารือกับลูกค้า พบว่า 50%ของลูกค้าเหล่านี้ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่อีกครึ่งหนึ่งต้องการความช่วยเหลือจากธนาคาร
อย่างไรก็ตาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ CIMBT ยอมรับว่า ในปีหน้าการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารจะมีการนำความเสี่ยงจากน้ำท่วมในการประเมินธุรกิจด้วย ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นถือว่าส่งผลต่อธุรกิจค่อนข้างมาก ขณะที่บริษัทรับประกันภัยที่เริ่มมีปัญหาจะไม่ยอมรับประกันภัยต่อจากกรณีน้ำท่วม ดังนั้น รัฐบาลจะต้องมีการจัดทำแผนในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น