ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร KCAR ที่ระดับ BBB+ แนวโน้มคงที่

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 4, 2011 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส (KCAR) ที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงคณะผู้บริหารของบริษัทที่มีประสบการณ์ในธุรกิจรถเช่า ความสามารถในการรักษาสถานะทางการตลาดในภาวะที่การแข่งขันทวีความรุนแรง ความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง และการจัดการความเสี่ยงจากการขายซากรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพซึ่งปรากฏเป็นกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าที่มีอย่างต่อเนื่อง

ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงสภาพคล่องทางการเงินซึ่งสนับสนุนโดยกระแสเงินสดของบริษัทที่มีความแน่นอนจากการมีรายได้จากสัญญาเช่าที่ส่วนใหญ่เป็นสัญญาเช่าระยะยาวด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการแข่งขันที่รุนแรงและความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้ารายใหญ่แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีการกระจายตัวที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นในบริการรถเช่าดำเนินงานที่จัดจ้างจากภายนอกของธุรกิจต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมายังคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตอุทกภัย โดยการขาดแคลนรถยนต์สำหรับส่งมอบจากปัญหาการผลิตที่เกิดจากอุทกภัยอาจเป็นปัจจัยที่ชะลอการขยายฐานรถยนต์ให้เช่าของบริษัทในระยะสั้น

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสามารถดำรงสถานะทางการตลาดได้ต่อไปด้วยการรักษาฐานลูกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้าใหม่ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง และคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรโดยการควบคุมต้นทุนและมีกำไรที่ต่อเนื่องจากการขายสินทรัพย์ให้เช่า ผลกระทบจากวิกฤตอุทกภัยในขณะนี้จะอยู่ในวงจำกัดในระยะสั้นและไม่กระทบกับผลประกอบการโดยรวมของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทกรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส ให้บริการรถยนต์เช่าดำเนินงานทั้งแบบระยะยาวและระยะสั้น เมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์ให้เช่าสุทธิ บริษัทถือเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อันดับ 3 จากจำนวนผู้ให้บริการ 30 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง หลังจากการปรับโครงสร้างเงินทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปลายปี 2548 สินทรัพย์ให้เช่าสุทธิของบริษัทก็เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า จาก 1,283 ล้านบาทในปี 2547 เป็น 2,977 ล้านบาทในปี 2552 สินทรัพย์ให้เช่าสุทธิของบริษัทอยู่ในระดับประมาณ 3,000 ล้านบาทมาตั้งแต่ปี 2552 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 สินทรัพย์ให้เช่าสุทธิอยู่ที่ระดับ 2,885 ล้านบาท

รายได้จากการให้เช่ารถยนต์แบบระยะยาวคิดเป็นอัตราส่วน 95% ของรายได้ค่าเช่ารวมและคิดเป็น 60% ของรายได้รวม ณ สิ้นปี 2553 บริษัทมีรถยนต์ให้เช่า 6,568 คัน เพิ่มขึ้นจาก 5,597 คันในปี 2552 โดย 95% ของจำนวนรถยนต์นั้นให้บริการภายใต้สัญญาเช่าระยะยาว และส่วนที่เหลือเป็นรถให้เช่าระยะสั้นและรถทดแทน

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ความสามารถในการหาลูกค้าใหม่และการรักษาฐานลูกค้าปัจจุบันเป็นสิ่งท้าทายสำหรับบริษัทกรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส ในช่วงที่คู่แข่งดำเนินกลยุทธ์การแข่งขันด้านราคา อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้บริการรถเช่าที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสนับสนุนความพยายามในการรักษาฐานธุรกิจของบริษัทเนื่องจากหน่วยงานต่าง ๆ เริ่มตระหนักถึงประโยชน์จากการใช้บริการรถเช่ามากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2553 ยังเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถขยายขนาดสินทรัพย์ให้เช่าทั้งในส่วนของการทดแทนสัญญาเช่าที่หมดอายุและการขยายจำนวนรถยนต์ให้เช่าที่เพิ่มขึ้นทั้งจากลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ วิกฤตอุทกภัยในขณะนี้คาดว่าจะกระทบต่อธุรกิจของบริษัทในระยะสั้นจากปัญหาความต้องการที่ลดลงและการขาดแคลนรถยนต์ใหม่สำหรับส่งมอบอันเกิดจากปัญหาการผลิตและขนส่ง ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการกระจายตัวของฐานลูกค้าที่มากขึ้นจะช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมสถานการณ์จากผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตอุทกภัยได้

บริษัทกรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีสมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากการมีความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทที่เกี่ยวข้อง บริษัทจัดซื้อรถยนต์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ให้เช่าในสัดส่วนมากกว่า 60% ของรถยนต์ที่จัดซื้อทั้งปีผ่านตัวแทนจำหน่ายซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่คือตระกูลจันทรเสรีกุลเป็นเจ้าของ การจัดซื้อรถยนต์จากตัวแทนจำหน่ายของผู้ถือหุ้นใหญ่ทำให้บริษัทได้ประโยชน์ด้านข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอพิเศษจากผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งช่วยให้บริษัทจัดซื้อรถยนต์ให้เช่าในราคาที่ต่ำกว่า

และนอกจากการมีศูนย์บริการทั่วประเทศกว่า 750 แห่งซึ่งบริษัททำสัญญาทางธุรกิจด้วยแล้ว บริษัทยังเป็นเจ้าของศูนย์บริการของตนเองซึ่งทำให้สามารถควบคุมต้นทุนการบำรุงรักษาที่ไม่จำเป็นอันอาจเกิดจากศูนย์บริการภายนอกด้วย

บริษัทจัดจำหน่ายรถยนต์ให้เช่าซึ่งหมดสัญญาเช่ากับลูกค้าแล้วผ่านทางบริษัทลูกคือ บริษัท กรุงไทย ออโตโมบิล จำกัด ด้วยประสบการณ์ของผู้บริหารของบริษัทกรุงไทย ออโตโมบิล และการได้รับการรับรองคุณภาพรถยนต์ใช้แล้วภายใต้ “โครงการโตโยต้าชัวร์" ช่วยให้บริษัทสามารถจำหน่ายรถยนต์ให้เช่าที่หมดอายุสัญญาในราคาที่สูงกว่าการจำหน่ายผ่านตัวแทนรับประมูลทั่วไป บริษัทมีกำไรจากการขายรถยนต์ที่หมดสัญญาเช่าอย่างต่อเนื่อง ในเดือนกันยายน 2554 บริษัทกรุงไทย ออโตโยบิลได้เปิดสาขาที่ถนนศรีนครินทร์ โดยสาขาที่ 2 ของบริษัทนี้คาดว่าจะสามารถเข้าถึงและขยายฐานลูกค้าในด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ สัดส่วนกำไรจากธุรกิจการขายรถยนต์มือสองจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

บริษัทได้เปลี่ยนวิธีการตัดค่าเสื่อมราคาในปี 2554 โดยมีการประเมินค่าซากที่ระดับ 23% ของมูลค่าสินทรัพย์แทนนโยบายเดิมที่ตัดค่าเสื่อมราคาโดยไม่มีค่าซาก อย่างไรก็ตาม วิธีการตัดค่าเสื่อมราคาใหม่นี้ไม่กระทบกับผลประกอบการของบริษัทเนื่องจากอายุการใช้งานของสินทรัพย์ได้มีการปรับลดลงจาก 6.5 ปี เป็น 5 ปี ดังนั้น ค่าเสื่อมราคาในแต่ละปีของสินทรัพย์ให้เช่าตลอดอายุสัญญาจะยังคงเดิมเหมือนกับที่เคยใช้วิธีการเดิมแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการประเมินอายุการใช้งานและค่าซากแล้วก็ตาม ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันของสัญญาให้เช่า ค่าเสื่อมราคาของบริษัทมักจะสูงกว่าผู้ประกอบการรายอื่นที่ใช้การประเมินราคาตลาด ณ วันที่หมดสัญญาเช่าเป็นค่าซากในการคำนวณค่าเสื่อมราคา

กำไรขั้นต้นจากธุรกิจให้เช่ารถยนต์ลดลงจาก 26.7% ในปี 2549 เป็น 19.2% ในปี 2552 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข่งขันที่รุนแรงผนวกกับผลกระทบจากนโยบายค่าเสื่อมราคาแบบอนุรักษ์นิยมในช่วงการขยายธุรกิจในปี 2549-2552 บริษัทมีกำไรขั้นต้นลดลงเป็น 16.5% ในปี 2553 แต่เพิ่มขึ้นเป็น 19.7%

สำหรับครึ่งแรกของปี 2554 นโยบายค่าเสื่อมราคาแบบอนุรักษ์นิยมจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทเมื่อมีการจำหน่ายสินทรัพย์ให้เช่าที่หมดอายุสัญญาแล้ว โดยจะสะท้อนในกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่า ทั้งนี้ การควบคุมต้นทุนการดำเนินงานและกำไรที่ได้รับเพิ่มจากธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มือสองยังช่วยเสริมความสามารถในการทำกำไรของบริษัท

ในปี 2553 บริษัทมีกำไรสุทธิ 346 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จาก 268 ล้านบาทในปี 2552 กำไรสุทธิสำหรับครึ่งแรกของปี 2554 เท่ากับ 173 ล้านบาท อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 18.6% ในปี 2553 จาก 16.3% ในปี 2552 ก่อนที่จะลดลงเป็น 17.8%

สำหรับครึ่งแรกของปี 2554 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 9.7% ในปี 2553 จาก 7.7% ในปี 2552 อัตราส่วนดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นเป็น 9.6% สำหรับผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2554 ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง บริษัทมีฐานะสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินในระดับปานกลาง โดยมีสภาพคล่องที่เพียงพอที่ได้รับจากค่าเช่าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ลักษณะของสินทรัพย์ให้เช่าซึ่งมีสภาพคล่องสูงในการจำหน่ายจะช่วยลดทอนความเสี่ยงด้านสภาพคล่องให้แก่บริษัทได้บางส่วน