- สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย ในทางกลับกันมวลน้ำเริ่มแผ่ขยายวงกว้างเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯชั้นในเข้ามามากขึ้นทุกที ซึ่งล่าสุดจนถึงวานนี้ กทม.ประกาศเขตอพยพรวมแล้ว 11 เขต ประกอบด้วย ดอนเมือง, สายไหม, หลักสี่, บางเขน, ทวีวัฒนา, บางพลัด, ตลิ่งชัน, บางแค, ภาษีเจริญ, หนองแขม และเขตจตุจักร ขณะที่ยังมีอีก 7 เขตให้อพยพบางส่วน ประกอบด้วย ธนบุรี, คลองสามวา, บางกอกใหญ่, ดินแดง, มีนบุรี ,หนองจอก และลาดพร้าว
- วันนี้ต้องติดตามว่ามวลน้ำจากทางฝั่งด้านเหนือของกรุงเทพฯ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะใช้เส้นทางพหลโยธินมุ่งหน้ามาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จะเดินทางมาถึงภายในกี่วัน โดยล่าสุดวันนี้น้ำจ่ออยู่ใกล้กับย่านสะพานควายเต็มทีแล้ว หลังจากมีน้ำบางส่วนได้เอ่อมายังถนนพหลโยธินด้านหน้าห้างบิ๊กซี สาขาสะพานควาย
- ขณะที่ทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ หลังจากถนนสายหลักต้องปิดจราจรไปแล้วทั้ง ถ.บรมราชชนนี ถ.เพชรเกษม ต่อไปจับตา ถ.พระราม 2 ที่รอรับน้ำจากเขตบางแค และเขตบางบอน ซึ่งล่าสุดผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน ยืนยันแล้วว่าหากมวลน้ำเข้ามายังเขตนี้ก็จะไม่มีการปิดกั้นขวางทางน้ำแต่อย่างใด โดยจะปล่อยให้น้ำข้าม ถ.พระราม 2 เพื่อไหลลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด
- น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีภารกิจเดินทางไปยัง รร.วัดท่าทราย จ.นนทบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจประชาชนที่ประสบอุทกภัย พร้อมตรวจสถานการณ์น้ำ หลังจากนั้นจะเดินทางเข้าไปประชุมที่ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) อาคารเอ็นเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ ถ.วิภาวดีรังสิต ที่แม้ขณะนี้ระดับน้ำจะเริ่มท่วมสูงขึ้นก็ตาม แต่นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่าจะไม่ย้าย ศปภ.ไปอยู่ที่ไบเทค บางนา ตามที่มีกระแสข่าวออกมาแต่อย่างใด
- ล่าสุดเช้านี้บริเวณบ้านพักของนายกรัฐมนตรี ที่ตั้งอยู่ใน ซ.โยธินพัฒนา 3 แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม ได้เตรียมนำกระสอบทราย มากองไว้บริเวณด้านข้างบ้านพักเพื่อเตรียมจะเรียงเป็นแนวกั้นน้ำแล้ว เนื่องจากพบว่าขณะนี้เริ่มมีน้ำเอ่อล้นออกมาบ้างแล้ว โดยน้ำได้ผุดตามท่อระบายน้ำ
- ไม่รู้ว่าจะช้าเกินไปหรือเปล่ากับแนวคิดของ ศปภ.ที่มีแผนจะวางแนวกระสอบทรายขนาดใหญ่(บิ๊กแบ็ค) ด้านฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ เพื่อชะลอการไหลของน้ำเข้าพื้นที่ เนื่องจากขณะนี้ปริมาณน้ำใน กทม.ฝั่งตะวันตกค่อนข้างสูงและยังไม่มีท่าทีลดระดับลง ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการวางแผนและพิจารณาจุดที่จะวางแนวบิ๊กแบ็คกันอย่างรอบคอบที่สุด โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาตัดสินใจประมาณ 2 วัน
- สำหรับการประชุม ศปภ.วันนี้ มีวาระพิเศษ คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) จะเข้าร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรี เพื่อสรุปความต้องการของ กทม.ว่ามีเครื่องมือประเภทใดบ้างที่อยากให้ ศปภ.สนับสนุนเพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของ กทม. รวมทั้งหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำตลอดเดือน พ.ย.นี้
- คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.), สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย นัดประชุมเพื่อติดตามการช่วยเหลือของรัฐบาลในการฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาอุทกภัย โดยเอกชนต้องการให้ภาครัฐดำเนินการอย่างรวดเร็วและมีเงื่อนไขที่ชัดเจน เช่น การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร มาตรการสินเชื่อ ฯลฯ
- การประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจวันนี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จะประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีประเด็นน่าสนใจ คือ พิจารณามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเพิ่มเติม และติดตามความคืบหน้าของการพิจารณาโครงการที่จะนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้น 1 ปี และโครงการระยะยาว รวมถึงประเมินผลกระทบในเบื้องต้นของปัญหาด้วย
- คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานจะมีการประชุมนัดแรก เพื่อเตรียมพิจารณามาตรการและสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย โดยจะมีมาตรการด้านภาษีสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนเพิ่มเติมและขยายการลงทุนใหม่ และสิทธิประโยชน์สำหรับผู้พัฒนานิคม และเขตประกอบการอุตสาหกรรมที่ต้องการจะลงทุนสร้าง หรือปรับเปลี่ยนระบบสาธารณูปโภค เพื่อป้องกันน้ำท่วมในอนาคต ที่อาคารจามจุรี สแควร์
- ส่วนการประชุมวุฒิสภาที่มี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีวาระสำคัญคือปัญหาสถานการณ์การเกิดอุทกภัยอย่างร้ายแรงในพื้นที่ กทม.และพื้นที่ในหลายจังหวัดของประเทศ โดยการประชุมครั้งนี้จะเปิดให้ ส.ว.อภิปรายแสดงความคิดเห็นเสนอทางออก และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาชี้แจงต่อที่ประชุมด้วย
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะเปิดให้ผู้ประกอบการกว่า 13 ราย ที่ได้ออกหนังสือเชิญให้เข้ามาสอบถามรายละเอียดและเงื่อนไขการเช่าเหมาบริการระบบบัตรสินเชื่อเกษตรกร ตามนโยบายบัตรเครดิตชาวนาของรัฐบาลที่ต้องการแจกเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับเกษตรกรกว่า2 ล้านคนทั่วประเทศ จากนั้นจึงจะเปิดให้คนที่สนใจเข้านำเสนอระบบต่างๆ ในวันที่16 พ.ย. เพื่อธนาคารสามารถคัดเลือกรายที่เสนอเงื่อนไขได้ดีที่สุดและนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส.ให้ทันภายในเดือนนี้
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/รัชดา โทร.02-2535000 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--